“สามัญสำนึก” รีบฝึกให้มีก่อนจะสาย

skills thumb

รวบรวมทักษะที่ควรมีไว้ในยุคที่โลกเปลี่ยนเร็วและเราไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่ข้างหน้า

บ่อยครั้งที่ได้รับคำถามจากผู้คนรอบข้างว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วขนาดนี้ ถ้าหากไม่อยากตกงานกลายเป็นคนที่ถูกทิ้งอยู่ข้างหลังในอนาคตอันใกล้ จะต้องฝึกฝนทักษะข้อไหนติดตัวเอาไว้บ้าง

คำถามข้อนี้ ซู่ชิงคิดว่าถ้าหากถามคนสิบคน ก็คงจะได้คำตอบสิบอย่างที่ไม่เหมือนกัน วันนี้ก็เลยคิดว่าจะมาแบ่งปันให้ฟังค่ะว่าจากประสบการณ์การทำงานและการใช้ชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมา ซู่ชิงคิดว่าทักษะไหนที่เราควรฝึกฝนให้ตัวเองและให้ลูกหลานของเราได้มีติดตัวไว้

  1. สามัญสำนึก (Common Sense) 

ซู่ชิงได้ยินแนวคิดนี้มาจากคลิปวิดีโอของ ดร. มิชิโอะ คาคุ นักฟิสิกส์เจ้าของผลงานเขียนมากมาย ซึ่งถูกโพสต์เอาไว้บนเฟซบุ๊กเพจ Big Think ใจความสำคัญที่เขาต้องการสื่อสารคือในอนาคตเราจะมีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วผ่านทางคอนแท็กเลนส์อัจฉริยะ ดังนั้นสิ่งจำเป็นในอนาคตที่จะทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น คือ ต้นทุนทางสติปัญญา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “สามัญสำนึก” นั่นเอง

มาดูเนื้อความที่อยู่ในคลิปวิดีโอกันก่อนค่ะ มิชิโอะคาดการณ์ว่าอาชีพที่จะเจริญงอกงามได้ในโลกอนาคตคืออาชีพที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์และสามัญสำนึก เช่น นักแต่งเพลง นักให้ความบันเทิง ศิลปิน จิตรกร เพราะไม่ว่าจะอย่างไรมนุษย์ก็จะยังคงหลงใหลเพลิดเพลินไปกับภาพและเสียงที่สวยงาม นักแสดงตลกจะไม่ตกงาน ส่วนทนายความก็สบายไปเพราะเป็นอาชีพที่จะต้องใช้สามัญสำนึกเนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทั้งหมดนี้เขาน่าจะหมายถึงอะไรก็ตามที่หุ่นยนต์ทำแทนมนุษย์ไม่ได้ หรือหากพอทำได้ก็ทำแบบงูๆ ปลาๆ อย่างการเล่าเรื่องตลก ที่หุ่นยนต์ทำได้แค่ทวนมุกขำขันที่มนุษย์ป้อนให้ ไม่สามารถคิดมุกขึ้นมาเองได้

 

ซู่ชิงคิดว่าการเลือก “สามัญสำนึก” ขึ้นมาเป็นทักษะที่ควรมี แม้จะฟังดูขัดกับความรู้สึกว่าของแบบนี้มันก็ต้องมีประจำตัวกันทุกคนอยู่แล้วไม่ใช่หรือ ทำไมจะต้องหยิบมาเขียนให้เปลืองพื้นที่ แต่ลองมองไปรอบๆ สิคะ บ่อยแค่ไหนที่เราเห็นคนที่พลาดพลั้งเอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลมอันตราย ทั้งที่จริงๆ สามารถหลีกเลี่ยงได้ง่ายๆ คอมเมนต์บนโลกออนไลน์ไม่น้อยเลยที่อ่านปุ๊บก็ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า เจ้าของเมนต์ไม่มีคอมมอนเซนส์เลยหรือยังไงเนี่ย

“อย่าถูกชื่อของมันหลอก สามัญสำนึก ไม่ได้สามัญ และไม่ได้เป็นสำนึก”

การมีสามัญสำนึกนอกจากจะทำให้เราเอาชีวิตรอดได้นานขึ้น อย่างเช่น การรู้ได้ว่าจะต้องไม่เดินเข้าไปถ่ายเซลฟี่กับหมีที่อยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง หรือ ไม่อุ้มลูกลงไปดูสิงโตใกล้ๆ ในสวนสัตว์เปิด (อันนี้เรื่องจริงนะคะ รายแรกโชคร้ายไม่รอด รายที่สองวิ่งกลับขึ้นรถทัน) ก็จะยังเป็นทักษะที่ทำให้เรานำหน้าหรือเทียบเท่า ไม่ล้าหลังคนในสังคมได้ และอย่าถูกชื่อของมันหลอกเชียวนะคะ สามัญสำนึก เนี่ย ไม่ใช่สำนึก และไม่ได้เป็นสามัญ (คือไม่ใช่ทั้ง sense และไม่ใช่เรื่อง common) เพราะมิเช่นนั้นเราก็คงมีกันอย่างถ้วนหน้าไม่มีขาดตกบกพร่องไปแล้ว

จะมีสามัญสำนึกได้ก็ต้องฟังเยอะ อ่านเยอะ มีประสบการณ์เยอะ นั่นแหละค่ะ เมื่อมีข้อมูลในหัวให้เราประมวลผลได้มากเท่าไหร่ ก็จะเพิ่มความน่าจะเป็นที่เราจะมีสามัญสำนึกในแต่ละเรื่องที่ผ่านเข้ามามากเท่านั้น อันนี้เป็นทักษะที่ต้องปูพื้นไว้เลยเพราะมันหมายถึงการมีชีวิตรอดในยุคที่ภัยคุกคามเปลี่ยนโฉมหน้าไปไม่ซ้ำในแต่ละวัน

2. ทักษะการต่อรอง

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ซู่ชิงเคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยอ่าน เพราะลำพังแค่ชื่อหนังสืออย่างเดียวก็โดนใจโครมใหญ่และทำให้เกิดสภาวะตาสว่างทันทีโดยยังไม่เปิดอ่านเนื้อหาข้างในเลยด้วยซ้ำ หนังสือเล่มนั้นมีชื่อยาวเหยียดว่า “In Business As In Life – You Don’t Get What You Deserve, You Get What You Negotiate”

เห็นด้วยไหมคะว่าแค่ชื่อหนังสืออย่างเดียวก็ก่อให้เกิดอิมแพ็กขั้นสูงได้แล้ว “ในการทำธุรกิจและการใช้ชีวิต เราไม่ได้สิ่งที่เราสมควรได้หรอก เราได้สิ่งที่เราต่อรองมาต่างหาก” 

บ่อยครั้งแค่ไหนที่เราไม่พอใจกับบางแง่บางมุมของชีวิต แต่สิ่งที่เราทำคือการก้มหน้าก้มตาทำแบบเดิมต่อไปโดยที่หวังว่าวันหนึ่งฟ้าจะมีตา ประทานสิ่งที่เราสมควรจะได้มาให้ถึงในฝ่ามือ เงินเดือนอันน้อยนิดที่ขยับปีละหลักร้อย ความรับผิดชอบของตำแหน่งงานที่ดูเหมือนจะขยายออกไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด เรื่องส่วนตัวก็เหมือนกัน ไม่เคยได้กินร้านอาหารที่ตัวเองอยากกินเพราะคนที่ไปกินด้วยไม่ชอบ จะซื้อรถคันใหม่ก็คุยกับคนในครอบครัวไม่ลงตัว ลูกเล่นแท็บเล็ตมากเกินไป ฯลฯ มีแต่เรื่องน่าปวดหัวเต็มไปหมด

ปัญหาหลายๆ อย่างแก้ไขได้ด้วยการ “ต่อรอง” ค่ะ

ถ้าเราไม่ต่อรอง สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือไม่มีใครเขารู้ว่าเราต้องการอะไร เจ้านายไม่มีเวลามาไล่สังเกตลูกน้องทีละคนๆ ว่าใครกำลังไม่พอใจกับค่าตอบแทนที่ได้รับบ้าง หรือไม่มีเวลามากพอที่จะมานั่งคิดว่า “คนนี้ทำงานดีจังเลย ไหนดูซิว่าตอนนี้ได้เงินเดือนเท่าไหร่ โห ได้เท่านี้เองเหรอ งั้นเดี๋ยวเพิ่มให้ดีกว่า” กรณีแบบนี้อาจจะมีอยู่บ้างนะคะ แต่น้อย และใช้เวลานานมาก นานกว่าที่เราจะเดินเข้าไปและต่อรองเองเยอะเลย

ทำงานประจำในบริษัทมาหลายปี วันหนึ่งซู่ชิงก็ตัดสินใจว่าอัตราเงินเดือนของเราเพิ่มช้าเกินไป ก็เลยรวบรวมโปรไฟล์ทั้งหมดของงานที่ทำที่คิดว่าสร้างมูลค่าให้กับบริษัท และเดินเข้าไปขอเจรจาต่อรองกับหัวหน้างานเพื่อขอเพิ่มเงินเดือน (เราต้องไม่เข้าไปด้วยวาจาเปล่าๆ นะคะ) ผลสุดท้ายคือการได้เพิ่มเงินเดือนตามที่ต้องการ แต่ถึงแม้ว่าผลลัพธ์จะไม่ได้จบลงที่เจรจาได้สำเร็จ อย่างน้อยๆ เราก็ได้นำเสนอความต้องการของเราออกไปแล้ว และมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจากตัวเราเอง หรือจากปัจจัยภายนอกในภายหลังได้

ศาสตร์ของการต่อรองเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน หัวข้อนี้เพียงต้องการจะบอกให้รู้ว่าทักษะการต่อรอง หรืออาจจะเริ่มต้นที่ “ความกล้า” ในการต่อรอง เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะ “ในการทำธุรกิจและการใช้ชีวิต เราไม่ได้สิ่งที่เราสมควรได้หรอก เราได้สิ่งที่เราต่อรองมาต่างหาก” 

3. ทักษะด้านภาษา

ถึงแม้ว่าตอนนี้พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีจะรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วและประทานพรอันมีค่ายิ่งให้แก่มวลมนุษยชาติในรูปแบบของเครื่องแปลภาษา ทั้งแอปพลิเคชัน Google Translate ที่ดาวน์โหลดมาติดตั้งไว้ในโทรศัพท์ได้ฟรีๆ หรือเครื่องแปลภาษาพกพาได้จากหลากหลายแบรนด์ที่ทำให้เราวาดฝันไปว่าต่อไปมนุษย์คงไม่ต้องเรียนภาษาต่างประเทศอีกแล้ว แต่ใครที่เคยใช้บริการเทคโนโลยีแปลภาษาเหล่านี้มาแล้วก็จะรู้ว่ามันช่วยได้ในระดับผิวเผิน ไม่ซับซ้อน ไม่ลงลึก การใช้ภาษาแม้จะมีศาสตร์ให้ศึกษาแต่อันที่จริงมันก็คือศิลปะเหมือนกัน และการจะฝึกฝนศิลปะการต่อรองในข้อ 2 ได้มีประสิทธิภาพ ทักษะการใช้ภาษาก็จะต้องดีด้วย

 

ยุคนี้เราจะไม่มานั่งพูดกันแล้วค่ะว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญแค่ไหน เพราะซู่ชิงถือว่านี่เป็นภาษาที่ทุกคนจำเป็นจะต้องรู้อยู่แล้วแบบไม่มีข้ออ้างใดๆ เพราะตอนนี้ไม่มีเวลาให้เราหาข้ออ้างมาปลอบใจตัวเองที่ไม่ยอมเรียนรู้ภาษาอังกฤษอีกต่อไปแล้ว

เด็กสมัยนี้เรียนภาษาอังกฤษกันตั้งแต่เล็ก เด็กจำนวนไม่น้อยเรียนโรงเรียนอินเตอร์ที่มีครูเจ้าของภาษาเป็นผู้สอน และสื่อต่างๆ ที่พวกเขาเสพในชีวิตประจำวันก็ล้วนเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อเด็กเจเนเรชันนี้เติบโตขึ้นมาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน พวกเขาจะใช้ภาษาอังกฤษในระดับที่สามัญพอๆ กับภาษาไทย แม้จะไม่มีประสบการณ์การทำงานเท่าเจเนเรชันก่อน แต่ทักษะนี้จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาตัวเองไปได้เร็วในราคาที่บริษัทไม่ต้องจ่ายสูงเท่า และสักวันหนึ่งเราก็จะไปถึงวันที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ข้อได้เปรียบ แต่เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี

แล้วภาษาอะไรล่ะ ที่เราจะต้องเริ่มเรียนต่อจากภาษาอังกฤษ? ลองมาดูเทรนด์คนดังของโลกกันหน่อยค่ะว่าพวกเขากำลังสนับสนุนให้ลูกเรียนภาษาอะไร คำตอบไม่น่าจะยากเกินคาดเดา ภาษาจีนกลาง นี่แหละค่ะ กำลังมาแรงที่สุด

คนดัง เซเล็บ คนรวยในตระกูลโด่งดังในฝากฝั่งตะวันตก กำลังผลักดันให้ลูกเรียนภาษาจีนกันอย่างแข็งขัน อย่างเช่น Jeff Bezos และภรรยา MacKenzie, Ivanka Trumpe และ Jared Kushner, เจ้าชาย William และ Kate Middleton หรือครอบครัว Zuckerberg ที่ตัว Mark เอง ซึ่งมีภรรยาเป็นลูกหลานชาวจีนอย่าง Priscilla Chan นั้น นอกจากจะพูดจีนคล่องเป็นไฟแลบแล้ว ก็ยังเริ่มสอนลูกสาวให้หัดพูดภาษาจีนแล้วด้วย เห็นได้จากในคลิปข้างล่างนี้ AI Jarvis จากการพากย์เสียงของ Morgan Freeman ก็ได้สอนภาษาจีนให้น้อง Max ลูกสาวของบ้านนี้ด้วย

 

4. ทักษะการอยู่เฉยๆ

เรามักจะคุยกันแต่หัวข้อว่าในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไกลรวดเร็ว หุ่นยนต์ก็ครองเมือง เราควรจะพัฒนาตัวเองอย่างไรให้ไม่ตกงาน ให้ยังแข่งขันได้ ให้ยังคงความสำคัญ ให้ไม่ล้าหลัง ให้มีรายได้มั่นคง ให้มีผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ ฯลฯ บทความนี้เองก็เช่นกัน ทั้งหมดที่พูดมานี้คือการทำให้ตัวเองเคลื่อนที่ไปข้างหน้าตลอดเวลา แต่ถามจริงๆ เถอะค่ะ เราจะไม่หยุดพักกันบ้างเลยเหรอคะ

ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นเหมือนกันหรือเปล่า ย้อนกลับไปสักสิบปีกว่าๆ ซู่ชิงมีโมเมนต์ที่อยากจะกลับมานั่งนิ่งๆ เฉยๆ อยู่ในห้องคนเดียว แล้วปล่อยให้สมองคิดนู่นคิดนี่ไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเวลาอินเลิฟกับใครสักคน สิ่งที่เราอยากจะทำคือนั่งลง หลับตา แล้วจินตนาการถึงช่วงเวลาแห่งความสุข หรือแค่ปล่อยใจให้คิดนั่นคิดนี่ไปเรื่อยๆ แป๊บๆ เวลาก็ผ่านไปเป็นชั่วโมงแล้ว

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่ากิจกรรมการนั่งนิ่งๆ เฉยๆ แล้วคิดอะไรไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องก้มมองโทรศัพท์และอ่านหน้าฟีดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไปอย่างเรื่อยเปื่อยนั้นไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว ทุกวันนี้แค่เราก้าวเข้าไปลิฟท์ที่ใช้เวลาเพียงไม่ถึงสองนาทีก็พาเราไปยังชั้นที่เราต้องการแล้ว เรายังต้องหยิบมือถือขึ้นมาปาดเล่นเลยใช่ไหมคะ

แบลซ ปัสกาล นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวเอาไว้ว่า

“All of humanity’s problems stem from man’s inability to sit quietly in a room alone.”  – ปัญหาทั้งหมดของมนุษยชาติมาจากการที่คนไม่สามารถนั่งเงียบๆ ในห้องคนเดียวได้

ความก้าวหน้าทางไอทีให้ประโยชน์และความรู้มหาศาลกับเราอันนี้แน่นอนอยู่แล้วค่ะ แต่มันมาพร้อมกับการสูญเสียความสามารถในการนั่งนิ่งๆ และทำความรู้จักกับตัวเอง สิ่งที่ปัสกาลพูดมีความจริงอยู่ในนั้นเยอะมาก เมื่อเราไม่นั่งเฉยๆ เราคว้ามือถือมาเล่น เราเห็นโพสต์จากเพื่อนๆ ที่ส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง เราก็เกิดความเร่าร้อนสุมจิตใจทำให้ต้องลุกขึ้นตะเกียกตะกายไขว่คว้าหาสิ่งที่อาจจะไม่จำเป็นกับเราตั้งแต่แรก แต่การแบ่งเวลามานั่งนิ่งๆ กับตัวเองนี่แหละค่ะ อาจจะทำให้เราค้นพบอะไรใหม่ๆ ได้ ไอเดียดีๆ ที่ซู่ชิงได้ มักจะมาจากตอนอาบน้ำหรือตอนไปนวด ไปสปา ไปแช่ออนเซ็นคนเดียวนี่แหละค่ะ

 

ตัวอย่างของการไม่เหลือเวลาให้อยู่นิ่งๆ กับตัวเองแม้แต่ตอนอาบน้ำ

 

นี่อาจจะเป็นทักษะที่หลายคนมองข้ามว่าในโลกที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเราจะหยุดนิ่งกันทำไม แต่ถ้าลองให้เวลาตัวเองได้หยุดและฟังเสียงจากข้างในบ้าง บางทีมันอาจจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้ไกลและนานกว่าที่เราจะไม่หยุดพักเลยนะคะ

 

5. ทักษะการเป็นไก่ในเป็ด

การเป็น “ไก่” ที่รู้แค่เรื่องเดียวก็ได้แต่ขอให้รู้เรื่องนั้นๆ ให้ครบถ้วนและลงลึก เป็นแนวคิดที่ทำให้คนเจเนเรชันก่อนประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าแนวคิดเดียวกันนี้จะสามารถใช้ได้กับเจเนเรชันใหม่ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและภัยคุกคามของเราไม่ได้มีแค่มนุษย์ด้วยกันที่เป็นคู่แข่ง แต่ยังมีหุ่นยนต์ที่รับคำสั่งได้ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย

“Jack of all trades, master of none.”

ดังนั้น ทักษะที่สำคัญที่ควรฝึกในยุคดิจิทัลคือการทำตัวเองให้เป็นเป็ด รู้ให้หลากหลาย รู้มากกว่าหนึ่งอย่าง และยืดหยุ่นให้ได้มากที่สุด เราสามารถนำเอาสาขาความรู้ต่างๆ ที่รวบรวมมา มาผนวกเข้าด้วยกันกลายเป็นวิธีคิดในแบบที่รอบด้านมากขึ้นและเป็นเอกลักษณ์ของตัวเราเองได้

ขณะเดียวกัน เมื่อเราเป็นเป็ดแล้วก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องรู้ทุกอย่างแค่ผิวเผิน เพราะในการเป็นเป็ด จะมีการเป็นไก่แทรกอยู่ด้วยก็ได้ ไม่ได้ผิดอะไร ความสำคัญคือต้องขยายฐานความรู้ของเราไปให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่านั้นเอง วิธีง่ายๆ อาจจะเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือให้หลากหลายประเภท ไม่เลือกอ่านเฉพาะประเภทใดประเภทหนึ่งที่เราชื่นชอบ ก็น่าจะช่วยเปิดโอกาสให้เราสำรวจศาสตร์ต่างๆ ได้มากขึ้น

Elon_Musk_2015

เราไม่มีทางรู้เลยว่าในอนาคตข้างหน้าจะเกิดอาชีพใหม่ๆ อะไรขึ้นมาบ้าง เพราะลองคิดดูสิคะว่าย้อนกลับไปไม่ถึงสิบปี เราก็คงจะขำมากถ้าหากมีคนมาบอกว่ามีอาชีพอย่างการเป็นนักการตลาดบนโซเชียลมีเดียอยู่ด้วย ดังนั้นการที่เราจะตั้งรับกับอาชีพเกิดใหม่ที่ยังนึกไม่ออกว่าหน้าตาจะเป็นยังไง ก็คงจะต้องตั้งรับด้วยการทำตัวเองให้รู้หลากหลายไว้ก่อน และพร้อมจะเรียนสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

Elon Musk เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการรู้รอบด้าน บทความชิ้นนี้กล่าวถึงเขาว่า เขาเป็นคนที่นำความเข้าใจด้านฟิสิกส์ วิศวกรรม โปรแกรมมิ่ง ดีไซน์ การผลิต และธุรกิจ มารวมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างบริษัทมูลค่าหลายล้านในสาขาที่แตกต่างกันออกไป

 

บทสรุป

นอกจากทักษะที่ได้พูดถึงไปแล้วก็ยังมีอีกหลายทักษะที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่าสำคัญแน่นอน อย่างการเข้าใจหรือสามารถเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ได้ ความเฉลียวฉลาดทางด้านอารมณ์ ทักษะการแก้ปัญหา ฯลฯ ซึ่งทักษะทั้งหมดในบทความนี้ซู่ชิงเลือกมาจากประสบการณ์ส่วนตัวว่าในอาชีพการทำงานหลายปีที่ผ่านมา ทักษะไหนช่วยเราได้บ้าง ประกอบกับทักษะที่เราอาจจะไม่ทันได้นึกถึงว่ามันมีความสำคัญมาก่อน แต่เหนือสิ่งอื่นใด “ความยืดหยุ่นและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง” ก็ยังเป็นคุณสมบัติแรกๆ ที่เราจะต้องฝึกให้มีติดตัวไว้เสมอ ในยุคที่โลกเปลี่ยนเร็วและเราไม่รู้ว่าจะมีความท้าทายอะไรรอเราอยู่ในอนาคต

Advertisement

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s