คำกล่าวที่ว่า “ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย” เป็นคำที่เราถูกสั่งสอนมาโดยตลอด เมื่อไหร่ก็ตามที่ความพยายามของเราออกดอกออกผลงอกเงยกลายเป็นความสำเร็จ แทนที่จะได้ฉลองให้ยิ่งใหญ่สมกับหยาดเหงื่อแรงงานที่เสียไป แต่กลับต้องถ่อมตัวน้อมรับความสำเร็จนั้นไว้เงียบๆ แล้วค่อยหลบออกมากรี๊ดลั่นห้องอยู่คนเดียวในห้องน้ำ เพราะถ้าหากความสำเร็จล่วงรู้ไปถึงหูเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเจ้านายมาเยินยอต่อหน้าคนทำงานทั้งชั้นและบอกให้ทุกคนเอาเราเป็นเยี่ยงอย่างแล้วด้วย ก็ยิ่งเท่ากับการฆ่าตัวตายทางสังคมชัดๆ เพื่อนร่วมงานจะปฏิบัติตัวต่อเราเปลี่ยนไป ยินยอมที่จะช่วยน้อยลง แยกตัวออกไปห่างขึ้น ซุบซิบนินทา ไปกินข้าวไม่เรียก และอื่นๆ อีกสารพัดที่จะทำให้เรารู้สึกว่าความสำเร็จนั้นกลายเป็นคำสาปไปเสียได้
“ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการอิจฉาริษยาและอยากทำลายความสำเร็จของคนอื่น “
ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการอิจฉาริษยาและอยากทำลายความสำเร็จของคนอื่น การทำความเข้าใจว่าเพราะอะไรคนถึงอิจฉาริษยาและพร้อมลากเราให้หล่นลงมาบนพื้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญนะคะ นอกจากจะทำให้เราสามารถรับมือกับคนรอบตัวเราได้แล้ว ก็ยังสามารถใช้เพื่อมาเตือนสติตัวเอง เนื่องจากทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการอิจฉาริษยาและอยากทำลายความสำเร็จของคนอื่นกันทั้งนั้น แต่ถ้าเราเข้าใจว่าอารมณ์เหล่านี้เกิดจากอะไร เราก็จะสามารถปรับความคิดของตัวเราเอง และเข้าใจความคิดของคนอื่นได้มากขึ้นด้วย
บทความของเว็บไซต์ Inc เรื่อง 5 Reasons People Rain on Your Parade When You’re Successful หรือ 5 เหตุผลที่คนอยากขัดขวางการฉลองความสำเร็จของเรา เขียนไว้ได้น่าสนใจมากค่ะ ผู้เขียนแบ่งสาเหตุของการที่ผู้อื่นไม่สามารถแสดงความยินดีกับความสำเร็จของเราได้ ออกเป็น 5 ประการด้วยกัน
- ความคาดหวังที่ไม่ยืดหยุ่น
มนุษย์มีความต้องการที่จะควบคุมทุกอย่างตั้งแต่กำเนิด และถ้าหากทำได้ไม่ตรงตามที่คาดหวังเอาไว้ก็จะไปกระทบทำให้รู้สึกเสียความสามารถในการควบคุม ซึ่งความสามารถนี้ถือเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์เลยทีเดียว ดังนั้นถึงแม้ว่าผลลัพธ์ของสิ่งที่เขาทำจะออกมาดี แต่ถ้าดีไม่พอกับความคาดหวัง หรือเห็นเราทำได้ดีกว่า ก็จะยังกระทบความรู้สึกอยู่ดี - ความรู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดีพอ
พวกเขาเหล่านั้นใช้คนอื่นเป็นมาตรวัดความสำเร็จของตัวเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราประสบความสำเร็จและยกมาตรฐานนั้นให้สูงขึ้น เขาก็จะรู้สึกว่าเราขึ้นไปอยู่สูงกว่า สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือเขาจะเริ่มไม่มั่นใจในตัวเอง และคิดว่าตัวเองมีทักษะหรือความสามารถที่ไม่เพียงพอ จนนำไปสู่ความรู้สึกล้มเหลว ยิ่งแย่ไปกว่านั้นอีกคือ ยิ่งเขาเห็นเราประสบความสำเร็จมากขึ้นๆ เขาก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองต่ำลงๆ และถูกทิ้งไว้ข้างหลังไกลลิบ - พวกเขามีความเจ็บปวดในอดีต
บางคนมีความเจ็บปวดที่ฝังใจมาจากอดีต บางทีพวกเขาเหล่านั้นเคยฝันสลายมาก่อน ล้มเหลวมาก่อน ถูกกระทำย่ำยีให้บอบช้ำมาก่อน ดังนั้นเมื่อเราประสบความสำเร็จและไต่ขั้นบันไดสูงขึ้นไปอีกขั้น ก็เหมือนกับไปย้ำเตือนให้พวกเขานึกถึงอดีตที่แสนเจ็บปวด จริงๆ คนเหล่านี้ไม่ได้เกลียดคุณหรอกค่ะเพราะเขาก็รู้แหละว่าคุณทำงานหนักกว่าจะประสบความสำเร็จในวันนี้ แต่ก็อาจจะอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าโลกนี้ไม่แฟร์ ทำไมคนอื่นประสบความสำเร็จ แต่เขายังติดค้างอยู่ที่เดิม - พวกเขาโกรธตัวเอง
บางคนเห็นความสำเร็จของเรา และเข้าใจดีว่าเราต้องทำงานหนักกว่าจะได้มา แต่…ตรงนี้สำคัญนะคะต้องฟังดีๆ…พวกเขารู้ว่าเราต้องเสียสละแรงกาย แรงใจ ไปมากแค่ไหนกว่าจะได้มาซึ่งความสำเร็จในวันนี้ ทำให้พวกเขาโกรธตัวเองว่าทำไมถึงไม่ทำแบบเดียวกันตั้งแต่แรก ถ้าทำงานหนักเท่าเราป่านนี้เขาก็ประสบความสำเร็จแล้ว ถ้าเขาตัดสินใจเลือกงานไม่เลือกเที่ยว ป่านนี้ก็คงจะได้ยืนอยู่ในจุดที่สูงขึ้นเหมือนที่เรายืนอยู่ ขอเพียงแค่เขามุมานะกว่านี้ ขยันกว่านี้ แต่มันไม่เกิดขึ้นเพราะวิถีการใช้ชีวิตที่ทำอยู่ทุกวันทำให้เขาไม่สามารถผลักตัวเองได้เหมือนที่เราผลัก ก็เลยทำให้เขาโกรธตัวเอง และไม่สามารถยินดีกับความสำเร็จของเราได้ - เราไปทำลายกฎบางอย่างที่เขาเชื่อ
หลายคนเชื่อว่าถ้าทำงานหนักจะประสบความสำเร็จได้สักวัน แต่ในกรณีที่เขากับเราทำงานหนักเท่าๆ กัน เราประสบความสำเร็จ แต่เขาอยู่ที่เดิม จะไปทำให้เขาเกิดการตั้งคำถามว่ากฎข้อนี้ไม่น่าจะจริงอีกแล้ว และเลยเถิดไปตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคมอื่นๆ อีก ดังนั้นการปฏิเสธไม่รับรู้ความสำเร็จของคนอื่นก็ทำให้พวกเขายังคงรักษาความเชื่อในกฎเหล่านี้ต่อไปได้
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร?
เรามีสิทธิจะได้เกลือกกลิ้งในความสำเร็จของตัวเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว แค่ต้องเตรียมใจไว้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะเดินมาจับมือแสดงความยินดีกับเราอย่างจริงใจไปเสียหมด อย่าไปคาดหวังว่าทุกคนจะต้องดีใจไปกับความสำเร็จของเราและชมเชยว่าเราเจ๋งแค่ไหน เพราะความสำเร็จของเราอาจจะไปสะกิดแผลใจหรือความรู้สึกไม่มั่นคงอะไรบางอย่างในตัวของคนอื่น ให้ลองสังเกตดูว่าคนรอบตัวเราคนไหนบ้างที่ดูยินดีกับความสำเร็จของเราได้อย่างจริงใจ แล้วเลือกแบ่งปันความสุขกับคนนั้นๆ ก็พอ ส่วนใครที่ดูไม่ได้แฮ้ปปี้ไปกับเราด้วย ก็ให้เลือกมีปฏิสัมพันธ์อีกแบบ เพื่อรักษาน้ำใจคนรอบตัวให้ได้มากที่สุด ดังนั้นจึงไม่น่าจะเกินความคาดหมายว่าถ้าหากเราโพสต์ป่าวประกาศความสุขความสำเร็จดังๆ บนโซเชียลมีเดีย มันจะไม่ได้นำพามาซึ่งความรู้สึกด้านบวกอย่างเดียวแน่นอน ถ้ายังแคร์คนรอบตัวก็ขอให้ระวัง แต่ถ้าไม่แคร์ก็อีกเรื่อง
อีกด้านของความอิจฉา
แล้วถ้าเราอยู่อีกด้านหนึ่งล่ะ? เราไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จ แต่เราเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จแล้วรู้สึกเจ็บจี๊ดในใจ ท้อแท้ ท้อถอย ตัวเราเองเมื่อไหร่จะดีพอ ทำไมทำเท่าไหร่ก็ไม่ได้ดีสักที หรือเราไม่มีความสามารถ ฯลฯ วิธีแก้ความรู้สึกขื่นขมอกตรมนี้คืออะไร?
หลายเว็บไซต์อาจจะให้คำแนะนำที่แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าให้เปลี่ยนความอิจฉาเป็นความรัก เปลี่ยนความริษยาเป็นพลัง ให้หันไปใส่ใจกับเรื่องดีๆ ที่ตัวเองมีอยู่ อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับใคร ฯลฯ แต่จริงๆ การอ่านฮาวทูทั้งหมดนี้ช่วยให้รู้สึกดีตอนอ่าน แต่นำไปปฏิบัติจริงยากมาก เพราะแม้จะเป็นเนื้อหาที่ดี แต่มันลอยๆ อยู่กลางอากาศ จับออกมาปั้นให้เป็นรูปเป็นร่างไม่ได้
“เมื่อไหร่ที่เกิดความรู้สึกอิจฉาในความสำเร็จคนอื่น ให้ลุกขึ้นมาทำงาน”
สำหรับซู่ชิง วิธีที่ดีที่สุด ได้ผลที่สุด เท่าที่เคยทำมา คือถ้าหากเป็นเรื่องหน้าที่การงาน เมื่อไหร่ที่เกิดความรู้สึกอิจฉาในความสำเร็จของคนอื่นและคิดว่าตัวเองด้อยกว่า ให้ลุกขึ้นมาและทำงานอะไรบางอย่างทันที สร้างสรรค์งานอะไรก็ได้ขึ้นมาหนึ่งชิ้น หรือเคลียร์งานที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จ จะเล็กหรือใหญ่ก็ได้ แต่ขอหนึ่งชิ้น เมื่อเราทำอะไรที่จับต้องได้สักอย่างออกมาและเสร็จสำเร็จเป็นอย่างๆ ไป มันจะเพิ่มความภาคภูมิใจให้กับตัวเอง และทำให้เราโฟกัสกับงานของเราจนลืมเรื่องของคนอื่น ซึ่งถ้าทำแบบนี้ได้บ่อยๆ ท้ายที่สุดก็จะเป็นการผลักตัวเองให้เข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย เพราะอารมณ์แบบนี้มันจะมาเป็นระลอกๆ ไม่ใช่มาครั้งเดียวจบและไม่มาอีกเลย แต่ถ้าเรานึกมันให้เป็นเกมแปดบิทสักเกม พอมีคนหวดลูกบอลแห่งความอิจฉามาให้เรา เราก็ตบกลับไปด้วยไม้แห่งการทำงาน ก็น่าจะเปลี่ยนให้ความอิจฉากลายเป็นเรื่องสนุกที่นำไปสู่การพัฒนาตัวเองได้ค่ะ