การส่งข้อความหาคนที่เรารู้ว่ากำลังขับรถอยู่จนนำไปสู่การเสียสมาธิและทำให้เกิดอุบัติเหตุ ความผิดอาจจะไม่ได้อยู่ที่คนขับรถเพียงผู้เดียว แต่ต่อไปคนส่งข้อความจะต้องร่วมรับผิดชอบ
แฟนซีรีส์เรื่อง Glee น่าจะจำฉากๆ หนึ่งที่ทำให้สะดุ้งสุดตัวได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือฉากที่ ควินน์ ฟาเบรย์ กำลังขับรถไปงานแต่งงานของเรเชล แบร์รี่ (ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ที่คนดูส่วนใหญ่รักแต่ก็อดไม่ได้ที่จะเกลียดไปพร้อมๆ กัน ด้วยความที่ลำไยเสียเหลือเกิน) และแม้ควินน์จะส่งข้อความไปบอกเรเชลแล้วว่ากำลัง ON MY WAY แต่เรเชลผู้เป็นเจ้าสาวก็กระสับกระส่ายไม่วายจะส่งข้อความไปเร่งแล้วเร่งอีก จน โครม! รถกระบะพุ่งเข้าชนรถของควินน์จากฟากคนขับเข้าอย่างแรง
ซู่ชิงจำได้ว่าฉากนี้ทำให้ต้องร้องออกมาว่า โอ๊ย อีเรเชล อีบ้าาาาาาาา อีบ้าาาาาาา
ในคลิปก็ค่อนข้างชัดเจนว่าจริงอยู่ที่ควินน์มีวิจารณญาณแย่ที่ส่งข้อความในระหว่างขับรถ แต่เรเชลก็สมควรถูกตำหนิพอๆ กัน เพราะรู้ทั้งรู้ว่าเพื่อนกำลังขับรถมาแล้วยังจะส่งข้อความไปเร่งอีก คนรอบตัวอาจจะตำหนิเธอ เธออาจจะรู้สึกผิดไปจนวันตาย แต่ในทางกฎหมายเรเชลก็ไม่ได้มีความผิดอะไร
เว้นเสียแต่ว่าในอนาคตอีกไม่นานข้างหน้า การกระทำแบบนี้อาจจะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายได้
ความผิดของผู้ส่งข้อความ?
เว็บไซต์ Global News อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของ Jordan Solway ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประกันและกฎหมายว่า
“ต่อไปข้างหน้า คนที่ส่งข้อความหาใครก็ตามที่กำลังขับรถโดยรู้ดีว่าคนๆ นั้นกำลังขับรถอยู่ จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น”
Solway บอกว่า คนที่ส่งข้อความไปหาคนที่กำลังขับรถทำตัวเสมือนประหนึ่งอยู่ในรถคันเดียวกันและรบกวนการบังคับยานพาหนะของผู้ขับ มีแนวโน้มที่จะต้องรับผิดชอบความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่สาม เพราะทำให้คนๆ นั้นตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น Solway ได้อ้างถึงคำตัดสินของศาลนิวเจอร์ซีย์ในปี 2013 ซึ่งเพื่อนสาวของวัยรุ่นหนุ่มอายุ 18 ปีคนหนึ่งได้ส่งข้อความไปหาเขา เพียง 25 วินาทีหลังจากนั้นรถกระบะของเขาก็พุ่งชนคนขับมอเตอร์ไซค์และภรรยาบาดเจ็บสาหัสจนสูญเสียขาทั้งสองข้าง
รายละเอียดเพิ่มเติมของคดี
คดีข้างต้นเกิดขึ้นในปี 2009 David Kubert ขี่มอเตอร์ไซค์โดยมีภรรยา Linda Kubert นั่งซ้อนท้ายมาด้วย จู่ๆ รถกระบะคันหนึ่งที่ขับโดย Kyle Best ชายวัย 18 ปี ก็ขับข้ามเส้นแบ่งถนนเข้ามาในเลนที่มอเตอร์ไซค์กำลังวิ่งอยู่ David หักหลบไม่ทันและชนเข้าอย่างจัง ส่งผลให้ทั้งคู่บาดเจ็บสาหัสที่ขา
เมื่อสืบสวนเรื่องก็พบว่า Shannon Colonna เพื่อนสาวของ Kyle ที่มักจะส่งข้อความหากันเป็นประจำวันละหลายๆ ครั้ง ได้ส่งข้อความหาเขาทั้งหมด 62 ครั้งในวันที่เกิดเหตุ และเธอมักจะมีนิสัยส่งข้อความหาเขาเฉลี่ย 100 ครั้งต่อวัน และเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบันทึกการรับส่งข้อความอย่างละเอียดก็พบว่าเธอส่งข้อความหาเขา 25 วินาทีก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ
ผู้เสียหายยื่นฟ้อง Shannon ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในครั้งนี้ แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง คู่สามีภรรยายื่นอุทธรณ์ ซึ่งก็ลงเอยแบบเดิมเนื่องด้วยเหตุผลว่าไม่มีทางใดที่จะรู้ได้ว่า Shannon รับรู้ว่า Kyle กำลังขับรถอยู่ในระหว่างที่เธอส่งข้อความหาเขา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาลจะไม่ดำเนินคดี แต่ก็ไม่ได้บอกว่าการส่งข้อความหาคนที่รู้ทั้งรู้ว่ากำลังขับรถนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ผิด ผู้พิพากษาคดีนี้บอกว่า การส่งข้อความหาใครสักคนไม่ได้เป็นการออกคำสั่งให้ผู้รับข้อความจะต้องโต้ตอบ แต่ในกรณีที่ผู้ส่งรู้ว่าผู้รับกำลังอยู่ในระหว่างขับรถและมีแนวโน้มที่จะเปิดข้อความอ่านทันที ถือว่าผู้ส่งได้รับรู้ความเสี่ยงในการที่ส่งข้อความ ณ เวลานั้นๆ และรู้ว่าจะรบกวนสมาธิผู้รับ ดังนั้นผู้ส่งจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ใดก็ตามที่เกิดขึ้นจากการทำให้ผู้ขับเสียสมาธิ
สรุปก็คือ แม้กรณีนี้จะเอาผิด Shannon ไม่ได้ แต่ผู้ใช้กฎหมายได้ระบุชัดว่า ผู้ส่งข้อความมีหน้าที่ในการหลีกเลี่ยงการส่งข้อความหาคนที่ตัวเองรู้แน่ชัดว่ากำลังขับรถอยู่ หรือรู้ว่าผู้รับจะเปิดอ่านข้อความแน่นอนแม้อยู่ในระหว่างขับรถ เพียงแค่ในกรณีนี้ไม่สามารถเอาผิด Shannon เพราะไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเธอรู้จริงหรือไม่ว่า Kyle กำลังขับรถ แต่ในอนาคตการตัดสินคดีก็มีแนวโน้มที่จะเพ่งเล็งไปที่ผู้ส่งข้อความมากขึ้นแน่นอน
นิสัยติดมือถือ VS ความคาดหวัง
“การส่งไลน์ไปแล้วอีกฝ่ายตอบกลับทันทีไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอีกต่อไปแล้ว”
ใครเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ คงจะพอเห็นความแตกต่างทางด้านนิสัยการใช้โทรศัพท์มือถือของคนในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจนนะคะ ถึงแม้ว่าผู้คนทั่วโลกจะติดโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่กลุ่มคนที่ติดมือถือกันหนักหนาสาหัสมากๆ ก็คือในแถบเอเชียบ้านเรานี่แหละค่ะ ในประเทศไทย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฯลฯ ผู้คนตามที่สาธารณะต่างๆ แทบจะไม่เงยหน้าขึ้นมาจากหน้าจอสี่เหลี่ยมเลย ในขณะที่ในแถบยุโรปหรืออเมริกา เราจะไม่เห็นมนุษย์ก้มหน้าเดินกันมากขนาดนี้ และการใช้โทรศัพท์มือถือโดยไม่จำเป็นในระหว่างที่อยู่กับเพื่อนหรือครอบครัวนั้นถือเป็นการเสียมารยาทอย่างหนักเสียด้วยซ้ำ (ใครไปกินข้าวกับเพื่อนฝรั่งลองสังเกตดูนะคะว่าส่วนใหญ่จะไม่หยิบโทรศัพท์ออกมาจากกระเป๋าเลยหากจำเป็นจะต้องหยิบก็จะขออนุญาตก่อนและจะหยิบมาใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น)
อีกหนึ่งปัจจัยคือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในบ้านเรานั้นถือว่าสัญญาณครอบคลุมดีมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งประเทศเจริญๆ ในแถบยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา รวมถึงค่าดาต้าก็ราคาย่อมเยามากๆ
ทั้งหมดนี้ทำให้คนไทยติดโทรศัพท์มือถือกันหนักหน่วง และเมื่อเราติดมือถือหนักขนาดนี้ เราก็คาดหวังให้คนที่เราส่งข้อความไปคุยด้วยจะต้องมีโทรศัพท์ติดมือแน่บหนึบไม่ต่างกับเรา การส่งไลน์ไปแล้วอีกฝ่ายตอบกลับทันทีไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอีกต่อไปแล้ว แต่การส่งไปแล้วรอการตอบกลับนานเป็นวันนี่สิที่ทำให้เราต้องบ่นพึมพำว่า “คนอะไรวะ เป็นไปได้ยังไงไม่อ่านไลน์เลยทั้งวัน” คนที่ส่งข้อความไปหาแฟนก็อยากให้แฟนตอบเลย พ่อแม่ที่เป็นห่วงลูกจนเกินความพอดีก็จะนั่งไม่ติดถ้าส่งข้อความไปแล้วลูกไม่ตอบทันที ทั้งหมดนี้มาจากฐานความเชื่อว่าทุกคนต้องเช็คโทรศัพท์มือถือตลอดเวลานั่นแหละค่ะ
แล้วทำอย่างไรล่ะให้ปลอดภัย?
ด้านคนส่ง – เวลาเราโทรศัพท์หาใครเรายังถามเขาเลยใช่ไหมคะว่า “สะดวกคุยหรือเปล่า” การส่งข้อความก็เช่นเดียวกัน ส่งไปถามก่อนก็ได้ว่า “สะดวกคุยไหม” ถ้าเขาไม่ตอบก็รอจนกว่าจะตอบ หรือถ้าตอบมาว่าขับรถอยู่ ก็อย่าไปเซ้าซี้อะไรให้มากความ ท่องไว้ว่าไม่มีอะไรสำคัญกว่าความปลอดภัย
ด้านคนรับ – ถ้าขับรถอยู่อย่าเพิ่งอ่าน อย่าเพิ่งตอบ ดูจะเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด และใช้ตัวช่วยดังต่อไปนี้
สำหรับคนที่ใช้ iPhone
ระบบปฏิบัติการ iOS 11 มีฟีเจอร์ Do Not Disturb สำหรับในระหว่างขับรถโดยเฉพาะ
- ไปที่ Settings > Control Center > Customize Controls
- แตะเครื่องหมาย + ที่อยู่หน้า Do Not Disturb While Driving
หลังจากนั้นทุกครั้งที่จะขับรถก็แค่ปาดเปิด Control Center ขึ้นมา แล้วก็แตะโลโกรูปรถ เพื่อเปิดปิดฟีเจอร์นี้ได้เลย เมื่ออยู่ในโหมดนี้ ไอโฟนจะเงียบและดับหน้าจอเอาไว้ตลอดเวลา ถ้ามีคนส่งข้อความมา โทรศัพท์จะตอบกลับอัตโนมัติเพื่อให้รู้ว่ากำลังขับรถอยู่ การทำงานอื่นๆ ก็จะคล้ายกับโหมด Do Not Disturb ทั่วไป คือคนที่อยู่ในคอนแท็กคนสนิทสามารถโทรเข้ามาได้ แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในลิสต์คนสนิท การโทรครั้งแรกจะไม่ดัง แต่โทรครั้งที่สองติดกันจะดังขึ้นเผื่อกรณีฉุกเฉิน
สำหรับคนใช้แอนดรอยด์
เท่าที่ลองหาข้อมูลดู โทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์จะไม่มีโหมดแบบเดียวกับของ iOS เป๊ะๆ เว้นแต่ว่าจะใช้โทรศัพท์ Pixel 2 หรือ 2 XL ซึ่งสามารถเปิดได้ตามนี้ค่ะ
Sounds > Do not disturb preferences > Add more > Driving.
หากใช้โทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์รุ่นอื่นๆ น่าจะต้องใช้แอปพลิเคชันเข้ามาช่วย อย่างเช่น Drivemode: Safe Driving App ที่ปรับเลย์เอาท์และการใช้งานโทรศัพท์ให้ใช้งานได้ปลอดภัยขึ้นในระหว่างขับรถ หรือ Drive Safe ตรวจจับโดยอัตโนมัติว่าเรากำลังขับรถอยู่หรือไม่และเปลี่ยนโทรศัพท์ให้เข้าโหมดเงียบรวมถึงตอบกลับข้อความแบบออโต้ รีพลาย เป็นต้น
สรุป
5 วินาที คือเวลาโดยเฉลี่ยที่คนละสายตาจากถนนและหันไปส่งข้อความบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งแค่ห้าวินาทีก็สามารถก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้แล้ว ถ้าหากเราคิดไว้เสมอว่าข้อความของเราอาจจะเป็นต้นเหตุให้ใครสักคนต้องตายหรือบาดเจ็บ ต่อไปนี้เราก็จะระมัดระวังมากขึ้น ไม่ประมาทและคิดว่า “คนขับเขาก็คงดูแล้วแหละว่าปลอดภัยก็เลยตอบกลับได้” หรือ “แค่พิมพ์ตอบกลับมาแป๊บเดียว ไม่เป็นไรหรอก” เราจะคิดถึงตัวเองน้อยลง และคิดถึงคนอื่นมากขึ้นค่ะ