ไฮไลท์ไต่สวนซักเคอร์เบิร์ก – “ห้าวหาญ” หรือ “เหิมเกริม”

การไต่สวนที่รุนแรงเผ็ดร้อนระหว่างคณะกรรมาธิการและซีอีโอเด็กหนุ่มที่อยู่กันคนละเจเนเรชัน ท่ามกลางเสียงเชียร์จากคนรักเฟซบุ๊ก และเสียงที่แสดงความเป็นห่วงว่าเฟซบุ๊กกำลังเขวี้ยงกฎระเบียบทิ้งถังขยะ

ซู่ชิงมีโอกาสได้นั่งดูการไต่สวน มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก โดยคณะกรรมาธิการของสภาคองเกรสของสหรัฐฯ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ Cambridge Analytica ที่ข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากหลุดรั่วออกไป ซึ่งซักเคอร์เบิร์กได้ไปนั่งตอบคำถามที่ยิงมาจากวุฒิสภาในคณะกรรมการทีละคนๆ ยาวนานถึง 5 ชั่วโมง (นี่เป็นการไต่สวนครั้งแรกเท่านั้น)

คำถามทั้งหมดถูกโฟกัสไปที่ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ซึ่งอันที่จริงนโยบายอย่างหลายที่ซักเคอร์เบิร์กได้ตอบคณะกรรมการไปนั้นล้วนเคยถูกนำมาประกาศให้สาธารณชนได้รู้กันแล้วในตอนที่เขาโพสต์เล่าไทม์ไลน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Cambridge Analytica และบอกว่าเฟซบุ๊กจะแก้ไข ปรับปรุง และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้อีกในอนาคตได้อย่างไรบ้าง

 

 

ในบล็อกนี้ซู่ชิงจะมาเล่าถึงสิ่งที่สังเกตได้จากการที่ได้นั่งดูถ่ายทอดสดเมื่อวาน ความรู้สึกต่างๆ ในระหว่างการดู และความคิดเห็นบางอย่างค่ะ

“ถ้าไม่อยากให้ข้อมูลส่วนตัวหลุดก็อย่าเสร่อใช้เฟซบุ๊กเสะ” – หนึ่งในคอมเมนต์ระหว่างชมสด

คอมเมนต์จำนวนมากที่ถาโถมพรั่งพรูเข้ามาในการชมถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊ก มีรูปแบบอยู่ไม่กี่อย่าง

1. คณะกรรมการไดโนเสาร์พวกนี้เนี่ยนะที่จะมาตัดสินอนาคตของเฟซบุ๊ก
2. พวกคนที่เกลียดเฟซบุ๊กทั้งหลาย ลืมไปแล้วเหรอว่าแกดูการถ่ายทอดสดนี้อยู่บนเฟซบุ๊ก
3. ฉันรักเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กทำให้ชีวิตและโลกของฉันเปลี่ยนไปตลอดกาล
4. ถ้าไม่อยากให้ข้อมูลส่วนตัวหลุดก็อย่าเสร่อใช้เฟซบุ๊กเสะ
5. ฉันรักมาร์ค

ห้ารูปแบบนี้วนเวียนปรากฏอยู่ในช่องแสดงความคิดเห็นซ้ำไปซ้ำมาตลอดเวลาหลายชั่วโมงของการถ่ายทอดสด

ตามปกติถ้าหากเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นในประเทศเรา บอกตามตรงว่าซู่ชิงก็มีสิทธิที่จะแอบคล้อยตามความคิดเห็นเรื่องไดโนเสาร์ไม่ยอมสูญพันธุ์เหมือนกัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศเราหลายต่อหลายครั้ง คือคนแก่ๆ ไม่ปล่อยวางอำนาจ แถมอยากจะวางนโยบายให้กับคนรุ่นหลังที่อยู่ในสังคมซึ่งมีไดนามิคที่เปลี่ยนผันอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่พวกเขาจะเข้าใจ

ดังนั้นก่อนจะดูการไต่สวนนี้ ซู่ชิงก็แบ่งใจเอาไว้แล้วนิดหน่อยว่าจะเป็นไปอย่างที่กลัวหรือเปล่า

ปรากฏว่าหลายชั่วโมงของการเปิดใจนั่งฟังคำถามจากวุฒิสมาชิกที่ผ่านไปทีละคนๆ ทำให้ซู่ชิงรู้สึกว่าคำถามส่วนใหญ่เป็นคำถามที่ถามได้อย่างตรงจุด ผ่านการหาข้อมูลมา และนำเสนอคำถามออกไปได้ชัดเจน ด้วยคำศัพท์ การเรียงประโยค และการเปรียบเปรยที่ง่ายพอที่จะทำให้คนที่ฟังอยู่แม้จะไม่มีพื้นฐานความรู้ก็สามารถฟังเข้าใจได้

น่าเสียดายที่คำถามเหล่านั้นเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาของคนจำนวนไม่น้อยเพียงเพราะน้ำเสียงที่ใช้ถามเป็นน้ำเสียงสั่นเครือของคนสูงวัยเท่านั้น

คู่แข่งของเฟซบุ๊กคือใคร?

คำถามที่ซู่ชิงชอบก็อย่างเช่น วุฒิสมาชิก Lindsey Graham ที่ถามว่า ให้ซักเคอร์เบิร์กบอกชื่อของ “คู่แข่ง” ของเฟซบุ๊กมาหน่อย เมื่อเขามีท่าทีอึกอักตอบไม่ได้ Graham จึงขยายความว่า “ถ้าหากไม่ใช้เฟซบุ๊กแล้ว จะมีแพลตฟอร์มอื่นอีกหรือเปล่าที่ผู้ใช้สามารถไปใช้งานแทนได้”คำถามนี้แสดงให้เห็นชัดว่าวุฒิสมาชิกต้องการพูดถึงคอนเซ็ปต์ของ “โมโนโปลี” นั่นเอง ซักเคอร์เบิร์กได้แต่แบ่งรับแบ่งสู้ว่ามีคู่แข่งที่มีลักษณะคล้ายกันและทับซ้อนกับเฟซบุ๊กบางประการ แต่เห็นได้ชัดว่าตัวเขาเองก็รู้ว่า เฟซบุ๊กในฐานะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เป็นทุกวันนี้มันไม่มีคู่แข่งจริงๆ ถึงแม้ว่าซักเคอร์เบิร์กจะปิดท้ายด้วยมุกตลกที่บอกว่า “สำหรับผมมันก็ไม่ได้รู้สึกแบบนั้นนะ” (“It certainly doesn’t feel like that to me,” ) เรียกเสียงหัวเราะมาได้บ้าง ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่าถ้าหากผู้ใช้ไม่ใช้เฟซบุ๊ก จะไม่มีตัวเลือกสำรองอื่นๆ ที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันให้หันไปหาเลย แต่ข้อนี้ก็เป็นแค่คำถามให้ไปครุ่นคิดต่อ ยังไม่ได้นำไปสู่กลยุทธ์อะไรทั้งนั้น

 

ซักเคอร์เบิร์กนอนโรงแรมไหน?

อีกคำถามที่น่าสนใจคือ อยู่ๆ วุฒิสมาชิกคนหนึ่งก็ถามว่า “ซักเคอร์เบิร์ก มาคราวนี้นอนโรงแรมอะไร” ซักเคอร์เบิร์กที่คงกำลังงงๆ ว่าเกี่ยวอะไรกับการไต่สวนฟะ ก็ดูเบลอไปชั่วขณะ เจ้าของคำถามก็เลยถามเพิ่มว่า “ถ้าเราให้คุณแชร์ข้อมูลว่าคืนนี้คุณนอนโรงแรมอะไร คุณจะสะดวกใจที่จะทำเช่นนั้นหรือไม่” ซึ่งเขาก็ตอบว่า “แชร์ที่นี่เนี่ยนะ คงไม่อะครับ”

จริงๆ คำถามนี้สะท้อนให้เห็นว่า ข้อมูลส่วนตัวบางอย่างที่เราแชร์กับคนสนิทใกล้ตัว เราไม่ได้คาดหวังให้มันกลายเป็นข้อมูลที่สาธารณชนคนอื่นๆ จะเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่รั่วไหลออกไปโดยที่เจ้าของข้อมูลไม่ยินยอมนั่นแหละ ข้อมูลส่วนตัวก็คือข้อมูลส่วนตัว เจ้าของข้อมูลยินดีให้เฟซบุ๊กถือข้อมูลชุดนี้ แต่ไม่ได้ยินยอมให้ Cambridge Analytica ได้ไปครอบครอง เช่นเดียวกับโรงแรมที่ซักเคอร์เบิร์กนอน เพื่อนและครอบครัวเขารู้ได้ แต่เขาคงไม่อยากให้ทั้งคณะกรรมาธิการและคนที่ดูถ่ายทอดสดอยู่ทั่วโลกได้รู้หรอก

 

ใช้มาตรฐานอะไรตัดสิน ดี – ไม่ดี?

นอกจากนี้ก็ยังมีการถามถึงมาตรการว่า เฟซบุ๊กจะทำอย่างไรเพื่อที่จะลด hate speech ซึ่งมาร์คก็ตอบว่า hate speech เป็นเรื่องที่ตรวจจับได้ยาก แม้ว่าเฟซบุ๊กจะมีเครื่องมือ AI ในการช่วย แต่ก็ไม่อาจจะครอบคลุมได้หมดอันเนื่องมาจากความซับซ้อนของการใช้ภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจาก AI (ที่ทำได้ดีมากอยู่แล้วตามความสามารถของมัน) เฟซบุ๊กจะจ้างคนจำนวนหนึ่งมาดูแลตรวจสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ หมายถึงเอามนุษย์มานั่งตรวจคอนเทนต์

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่คำถามและคำตอบชุดนี้ นำไปสู่คำถามอีกข้อจากวุฒิสมาชิกอีกคน ที่ถามว่า “ที่บอกว่าจะใช้คนเข้ามาช่วยดูแลจัดการคอนเทนต์ที่ “ไม่ดี” ออกไปจากแพลตฟอร์ม คุณจะใช้อะไรเป็นมาตรฐานว่า อันไหนดี อันไหนเลว จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่เป็นการตัดสินโดยลำเอียง”  คำถามข้อนี้ถ้าเป็นซู่ชิงโดนเข้าไปก็คงจะมีอ้ำอึ้งไปเหมือนกัน เพราะเรื่องการตัดสินความดี ความเลว ความถูกต้อง ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม และหลายครั้งต้องใช้ความรู้สึกเข้าช่วย ซักเคอร์เบิร์กก็สามารถตอบได้เพียงแค่ว่าเรื่องพื้นฐานบางอย่าง อย่างเช่น hate speech หรือการทำร้ายตัวเอง (น่าจะหมายถึงการฆ่าตัวตายแล้วถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์) ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่จะถูกลบออกจากแพลตฟอร์ม

ยังมีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ บ่อยครั้งที่ซู่ชิงได้รับคำถามจากคนที่คุยด้วยว่าเป็นไปได้ไหมที่เฟซบุ๊กจะแอบดู และดักฟังเรา เพราะว่าพูดถึงอะไรขึ้นมา หรือไปเสิร์ชอะไรนอกเฟซบุ๊กสักหน่อย ก็จะไปเห็นปรากฏเป็นโฆษณาอยู่บนหน้าฟีดเฟซบุ๊ก คำถามแบบเดียวกันนี้ถูกยิงออกมาจากวุฒิสมาชิกหลายคนเลยค่ะ หนึ่งในนั้นเปรียบเปรยว่าถ้าหากเขาชอบกินช็อกโกแลต ไปเสิร์ชเกี่ยวกับช็อกโกแลตแล้วมันมาปรากฏเป็นโฆษณา มันก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าสิ่งที่เขาชอบเป็นสิ่งที่มันมีความอ่อนไหวกว่านั้น เป็นส่วนตัวมากกว่านั้น จะสามารถทำให้มันไม่มีทางมาปรากฏอยู่บนเฟซบุ๊กได้เลยหรือไม่

มาร์คตอบคำถามข้อนี้ว่าฟีเจอร์การนำข้อมูลที่ผู้ใช้สนใจนอกเฟซบุ๊ก มาแสดงไว้เป็นโฆษณาในเฟซบุ๊ก เป็นสิ่งที่สามารถเลือกเปิด ปิด ได้ แต่การที่ทำให้โฆษณาตรงกับความสนใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ใช้งาน เพราะอย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กก็จะต้องมีโฆษณา และดีที่สุดคือเป็นโฆษณาที่ผู้ใช้สนใจเป็นการส่วนตัว ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสความเป็นไปได้ของการมีเฟซบุ๊กเวอร์ชันจ่ายเงินเพื่อปลด ads ในอนาคต

 

คอมเมนต์จากผู้ชมทางบ้าน

“ใครปล่อยไดโนเสาร์มาขีดกรอบเฟซบุ๊ก” “คนแก่พวกนี้ใช้เฟซบุ๊กเป็นหรือเปล่าเหอะ”

คราวนี้กลับมาดูที่คอมเมนต์จากคนใช้งานทั่วๆ ไป ซึ่งซู่ชิงคิดว่ามีบางคอมเมนต์ที่น่าจะต้องมาทำความเข้าใจกันเพิ่มเติมสักหน่อย แม้ว่าวุฒิสมาชิกเจ้าของคำถามส่วนใหญ่จะสูงวัย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนเหล่านี้จะไม่รู้เรื่องเฟซบุ๊กเลยนะคะ ถ้าหากเราด่วนสรุปไปแบบนั้นว่าคนแก่ = โง่เทคโนโลยี มันไม่ใช่การ เหยียดวัย หรือคะ? หลังจากการถามคำถามของหลายๆ คนครั้งนี้ เราก็ต้องให้ความยุติธรรมกับพวกเขาว่า นี่คือคนมีอายุที่ใช้งานเฟซบุ๊ก (หลายคนยกแท็บเล็ตมาโชว์ให้ดูเลยว่าใช้จริง) และพวกเขาอาจจะเข้าใจเฟซบุ๊กมากกว่าวัยรุ่นที่แวะเข้ามาดูถ่ายทอดสดเพียงแค่ 5 วินาทีก็ได้ ดังนั้นการไปเหมารวมว่าทุกคนเป็นไดโนเสาร์ก่อนที่จะฟังสิ่งที่พวกเขาพูดก็จะไม่นำมาซึ่งประโยชน์อะไรเลย

“ขอบคุณเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กทำให้ชีวิตฉันดีขึ้นมาก”

อันนี้เป็นเรื่องจริงนะคะ เฟซบุ๊กเปลี่ยนชีวิตที่ยากลำบากของใครหลายคนให้กลับกลายเป็นอู้ฟู่ได้ด้วยการเปิดช่องทางการทำธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมามหาศาล เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นเข้าไปใหญ่ ที่เราจะต้องสนับสนุนให้มีการตรวจสอบนโยบายการดำเนินงานของเฟซบุ๊กอยู่เรื่อยๆ เพื่อทำให้แพลตฟอร์มที่ยิ่งใหญ่ขนาดมีผู้ใช้รายวันเกือบสองพันล้านคนนี้เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นไปตามกฎ ระเบียบ ที่ควรจะเป็น ตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และกระตุ้นให้เจ้าของแพลตฟอร์มรู้ว่าที่แห่งนี้ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ จะได้มีเฟซบุ๊กให้เราใช้งานต่อไปได้นานๆ ยังไงล่ะคะ

“ถ้าไม่อยากให้ข้อมูลส่วนตัวหลุด ก็อย่าเสร่อใช้เฟซบุ๊กดิ”

อันนี้พูดยากและหากต้องพูดก็จะต้องพูดกันยาวเลยค่ะ อย่างแรกก็คือ คนที่ใช้เฟซบุ๊ก เขายินยอมตกลงให้ข้อมูลส่วนตัวของตัวเองอยู่บน “เฟซบุ๊ก” ดังนั้นคนใช้เฟซบุ๊กยอมรับอยู่แล้วตั้งแต่แรกว่านี่ไม่ใช่ข้อมูลส่วนตัวที่เก็บใส่ไหฝังไว้ใต้ถุนบ้าน แต่ข้อมูลนี้เรามอบให้เฟซบุ๊ก อยู่ภายใต้การดูแลของเฟซบุ๊ก ไว้วางใจให้เฟซบุ๊กเก็บรักษาเอาไว้ด้วยความเชื่อใจว่ามันจะไม่หลุดออกไปให้บุคคลที่สามนำไปใช้ในจุดประสงค์อื่นที่พวกเขาไม่รับรู้  และเฟซบุ๊กได้ทำพลาดด้วยการปล่อยให้หลุดรั่วออกไปได้ ซึ่งเฟซบุ๊กก็ยอมรับผิดเรื่อง breach of trust นี้แล้ว อันนี้ไม่ต้องเถียงแทนคุณพี่มาร์คแต่อย่างใด

เรื่องที่สอง คนมักจะไม่เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่ข้อมูลหลุด เพราะคิดว่า กะอีแค่ชื่อ อีเมล ภาพโปรไฟล์ ของชั้น ใครจะเอาไปทำอะไรได้ อยากได้ก็เอาไปเลยย่ะไม่หวง อันนี้คือต้องรอให้ข้อมูลหลุดและเกิดความเสียหายก่อนถึงค่อยจะโวยวายเหรอคะ มันจะไม่ทันการเอาน่ะสิ ข้อมูลประเภทนี้หลุดออกไปเป็นชุดเมื่อไหร่ก็อาจจะนำมาซึ่งการถูกสวมตัวตน (identity theft) ที่เดี๋ยวนี้เขาขายกันเป็นแพ็กในดาร์ค เว็บ มีทั้งชื่อ อีเมล ที่อยู่ เลขบัตรเครดิต แถมด้วยภาพเซลฟี่ ให้อาชญากรที่ไหนไม่รู้พร้อมสวมรอยเป็นเราได้เลย ถ้าเรามีความรักและเข้าใจในมูลค่าของตัวเราเอง เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราสุดกำลัง

“พวกแกจะมาต่อว่าเฟซบุ๊ก ทั้งที่ตัวเองก็ใช้เฟซบุ๊กเข้ามาดูถ่ายทอดสดเนี่ยนะ”

ตอบสั้น ค่ะ

ตอบยาว ส่วนใหญ่เขาไม่ได้มาด่าเพื่อความสะใจกันเฉยๆ นะคะ เขามาเพื่อตั้งคำถาม เพื่อให้นำไปสู่การพิจารณาปรับปรุงให้ดีขึ้นต่างหาก

 

มาร์คเป็นอย่างไรในการไต่สวนครั้งนี้?

คราวนี้มาถึงพี่มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก นะคะ ซู่ชิงคิดว่าส่วนใหญ่ซักเคอร์เบิร์กเตรียมตัวตอบคำถามมาได้ดี ตอบได้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษโดยเฉพาะเวลาที่ไปแตะเรื่องของนโยบายและกลยุทธ์ที่จะทำต่อไป เพราะในแอเรียนี้น่าจะถูกทีมบรีฟมาอย่างหนักหน่วง เขาระมัดระวังที่จะไม่ตอบอะไรที่ตัวเองไม่รู้ แม้ว่าจะถูกแหย่มาว่าเรื่องแค่นี้ไม่รู้ได้ยังไงก็ตาม ภาพลักษณ์ของเขาที่สะท้อนมาจากการไต่สวนนี้ซู่ชิงคิดว่าส่วนใหญ่เป็นบวก ผู้ใช้ที่เกรี้ยวกราดดูแล้วก็ไม่เกรี้ยวกราดเพิ่ม ผู้ใช้ที่รักอยู่แล้วก็ยังรักเหมือนเดิม อันนี้ถือว่าค่อนข้างวินโดยเฉพาะในสายตาคนรุ่นใหม่

เป็นเพียงแค่กระบวนการ

ส่วนการไต่สวนครั้งนี้ (และอีกครั้งที่กำลังจะมีขึ้นหลังจากนี้) จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ได้หรือไม่ เฟซบุ๊กจะถึงคราวล่มสลายหรือเปล่า ฯลฯ​ ส่วนตัวซู่ชิงมองว่าไม่ถึงขนาดนั้นหรอกค่ะ เฟซบุ๊กกลายเป็นอาณาจักรที่มโหฬารและโมโนโปลีไปแล้ว ไม่สามารถล้มได้ง่ายๆ การไต่สวนครั้งนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่โปรโตคอลของการปรามเด็กหนุ่มที่ Move Fast and Break Thigns (ตามสโลแกนเดิมของเฟซบุ๊ก) ว่าทุกอย่างต้องมีขอบเขตที่เหมาะสม ทุกการกระทำก่อให้เกิดผลกระทบ ดังนั้นจะมุ่งแต่มูฟฟาสต์อย่างเดียวไม่ได้ ยูต้องมูฟแบบฉลาด ระมัดระวัง คำนึงถึงคนรอบข้างด้วย อารมณ์ก็คงคล้ายๆ กับผู้ใหญ่เรียกเด็กมาตีก้นให้พอขยาด เสร็จแล้วก็ปล่อยให้วิ่งเล่นต่อแต่ก็จับตามองอย่างใกล้ชิด

ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นและมุมมองจากซู่ชิงเองค่ะ อาจจะถูก หรืออาจจะผิด ไม่มีตัวชี้วัดอะไรที่แน่นอน แต่เราทุกคนก็คงอยากมีส่วนร่วมในการค่อยๆ ตบให้แพลตฟอร์มที่เรารักนี้เข้าที่เข้าทางเพื่อทำให้มันเชื่อมโยงเรากับคนที่เรารักได้ต่อไปอีกนานๆ ใช่ไหมล่ะคะ

One comment

  1. เขาเหมือนหุ่นแอนดรอยด์เลย พูดมีเหตุผลไม่มีอารมณ์(ยกเว้นดื่มน้ำบ่อยมาก อาจจะใช้พลังงานจาก H2O)
    (แฮกเกอร์?)ในรูปแบบของนักพัฒนาเจาะข้อมูลไปใช้ เขาไม่ได้ผิดอะไรเลย ควรจะปกป้องมากกว่าทำลายเขา

    Like

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s