“Muse” แก็ดเจ็ตที่ช่วยให้ใจสงบ

 

ทุกวันนี้แก็ดเจ็ตที่ใกล้ตัวเรา อย่างสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ สมาร์ตวอตช์ คอนโซลเกม ฯลฯ ถูกมองเป็น “distraction” หรือสิ่งที่ล้วนทำให้เราสูญเสียสมาธิได้ง่ายดาย นั่งทำงานแป๊บๆ ก็ต้องแว้บไปเช็คว่าใครส่งไลน์มา จะดูทีวีก็อดไม่ได้ที่จะต้องไถหน้าเฟซบุ๊กไปด้วย เราก็เลยมักจะรู้สึกว่าแก็ดเจ็ตเนี่ยอาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ทุกวันนี้เราสมาธิสั้นกันเหลือเกิน

แต่ไม่ใช่แก็ดเจ็ตตัวนี้นะคะ

เพราะนี่คือ

 

(ทำเสียงโดราเอมอน) ……Muse (มิวส์) แก็ดเจ็ตช่วยทำสมาธิ!

Muse มีสโลแกนว่า Meditation Made Easy ซึ่งซู่ชิงเห็นแก็ดเจ็ตชิ้นนี้ครั้งแรกในงาน CES 2016 เห็นครั้งแรกก็สะดุดตามากๆ แก็ดเจ็ตอะไร ทำไมต้องเอามาคาดหน้าผาก เป็นเทคโนโลยีหลอกหรือเปล่า ก็เลยลองเข้าไปใช้งานดู แต่เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็เลยไม่ได้มีความรู้สึกประทับใจอะไรมาก

กลับไปงาน CES 2018 คราวนี้ เจอ Muse มาตั้งบูธใหม่ใหญ่กว่าเดิม แถมพีอาร์ใจดี ยก Muse ให้กล่องหนึ่งให้ลองเอากลับไปใช้งานที่ประเทศไทย ประเทศที่การทำสมาธิดูเหมือนจะเป็นของที่อยู่คู่กับประชาชนจำนวนมากเพราะสอนกันมาตลอดตั้งแต่ชั้นประถม

เพราะฉะนั้นก็ต้องไม่พลาด เราลองมาใช้งานกันค่ะ

Muse คืออะไร?

Muse เป็นอุปกรณ์สวมศีรษะที่คาดพาดผ่านหน้าผากของผู้สวมใส่ เซ็นเซอร์ของมันจะทำหน้าที่ในการจับคลื่นสมอง แล้วแปลค่าคลื่นสมองเหล่านั้นให้เป็นสถานะของความสงบในหัวของเรา โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1. สงบ 2. กลางๆ 3. วุ่นวาย ซึ่งทั้งหมดนี้จะแสดงค่าผ่านแอปพลิเคชัน

Muse ช่วยอะไร?

หน้าที่ของ Muse แบบสรุปง่ายๆ นะคะ ก็คือการเป็นผู้ช่วยในการทำสมาธิของเรา ทำให้เราสามารถทำสมาธิได้ง่ายขึ้นเพราะเรารู้สถานะความคิดของเราอยู่ตลอดเวลา และสามารถที่จะคอยเก็บค่าการทำสมาธิของเราในระยะยาวเพื่อดูว่าคุณภาพในการทำสมาธิของเราเปลี่ยนแปลงไปในระยะเวลาหนึ่งๆ อย่างไรบ้าง

แกะกล่อง Muse กัน

ข้างในกล่องของ Muse ประกอบไปด้วย

  • Muse เฮดแบนด์พระเอกของเรา
  • สายชาร์จ Micro USB
  • คู่มือดาวน์โหลด
  • ถุงผ้าใส่อุปกรณ์เสริม
  • ยางรัดผม*

LRG_DSC01891LRG_DSC01893

*ยางรัดผมมีไว้สำหรับคนผมยาว เพราะเวลาสวม Muse ลงไป จะต้องหลีกเลี่ยงการสวมทับลงไปบนผมเพื่อให้มันสามารถอ่านค่าได้ชัดเจนที่สุด

วิธีการทำงานของ Muse

Muse ใช้เทคโนโลยี Electroencephalography หรือ EEG ที่บันทึกกิจกรรมไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในสมอง Muse มาพร้อมกับเซ็นเซอร์ 4 ตัวที่จะช่วยให้เราได้เห็นและเก็บข้อมูลกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสมอง ในแบบเดียวกับที่การวัดอัตราการเต้นของหัวใจจะช่วยให้เราได้เห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับร่างกายเรานั่นเอง ซึ่งเซ็นเซอร์หลักๆ ของ Muse จะอยู่ที่บริเวณสายคาดหน้าผากและหลังใบหูค่ะ ดังนั้นเขาก็เลยแถมยางรัดผมมาให้ด้วยเพราะจะต้องเอาผมออกจากบริเวณที่เซ็นเซอร์จะแนบลงไปได้ เพื่อให้สัญญาณชัดเจนที่สุด ผู้ผลิต Muse เขาบอกว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันตามโรงพยาบาลและศูนย์วิจัยต่างๆ มานานเป็นศตวรรษแล้ว อันนี้เขาแค่นับมาปรับให้กลายเป็นแก็ดเจ็ตที่คนทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายๆ เท่านั้นเอง

 

Screen Shot 2561-02-20 at 19.10.44
ส่วนประกอบของ Muse

 

เริ่มต้นใช้งาน Muse กัน!

อันดับแรกเราต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Muse มาก่อน ซึ่งก็มีสำหรับทั้ง iOS และ Android เลยScreen Shot 2561-02-20 at 19.37.40

หยิบ Muse ของเราขึ้นมา กดปุ่มเปิด (ใช้เสร็จแล้วอย่าลืมปิดด้วย) แล้วก็ Pair เข้าหากัน แอปก็จะบอกว่าเจอ Muse แล้ว

ก่อนจะเริ่มใช้งานได้ เราจะต้อง calibrate ก่อน สวม Muse ลงไปบนศีรษะ ให้สายคาดไว้ที่หน้าผาก ดีที่สุดคือปัดผมออกจากบริเวณใบหู หรือมัดเอาไว้ข้างหลังให้หมดเลยยิ่งดี ปรับให้เข้ากับขนาดของศีรษะ บริเวณใบหูจะมียางอยู่ทำให้วางลงไปได้แบบแนบแน่นและไม่เจ็บ

IMG_4049LRG_DSC01900

เมื่อปรับให้ทุกอย่างดูโอเคแล้ว ก็เริ่ม calibrate แอปจะใช้เวลาประมาณหนึ่งนาทีเพื่อลองอ่านค่าสมองของเราดู ถ้ามีอะไรไม่ลงตัวมันก็จะบอกให้เราปรับนู่นปรับนี่ค่ะ

เสียบหูฟัง หรือจะไม่เสียบก็ได้

พร้อมเริ่มต้นเซสชันแรกได้เลย

วิธีใช้งาน

เมื่อสวม Muse ไว้เรียบร้อยและเปิดแอปพลิเคชันไว้แล้ว เราจะเห็นเมนูคำว่า Start Session ให้เราเริ่มต้นเซสชันได้ การทำงานก็คือแต่ละเซสชัน Muse จะจับคลื่นสมองของเราเพื่อดูว่าสมองเราอยู่ในสถานะแบบไหน จาก 3 สถานะที่กล่าวไว้ตอนแรกสุด โดยเป็นการวัดแบบตามเวลาจริง และจะบอกให้เราได้รู้ค่าผ่านทางเสียงธรรมชาติ ซึ่งก็คือ

ถ้าความคิดเราวุ่นวาย เราจะได้ยินเสียงคลื่นทะเลซัดสาดถาโถมอย่างบ้าคลั่ง

ถ้าความคิดเรากลางๆ เสียงคลื่นก็จะเบาลงกว่าแบบแรก

ถ้าความคิดเราเริ่มสงบลง เสียงคลื่นจะลดลงเรื่อยๆ และเมื่อเราคงความสงบได้สักระยะหนึ่ง เราจะได้ยินเสียงนกร้อง! ถ้าได้ยินเสียง จิ๊บ จิ๊บ ขึ้นมาเมื่อไหร่เนี่ย แสดงว่าเราสามารถทำความคิดเราให้สงบลงได้แล้วค่ะ

เมื่อครบเวลาเซสชัน (ซึ่งเราสามารถกำหนดเองได้ ตั้งแต่ไม่กี่นาที ไปจนถึงเกือบสี่ชั่วโมงนู่นเลย (หลับชัวร์) ค่าของการทำสมาธิจะโชว์ให้เราดูในรูปแบบกราฟ เราจะเห็นการขึ้นๆ ลงๆ ของความคิดเรา พุ่งสูงก็แน่นอนว่าเราอยู่ในช่วงฟุ้งซ่าน เมื่อไหร่ที่กราฟเราพุ่งสูง แล้วเราเอาความคิดลงมาได้ เราจะเห็นจุดสีส้มๆ ปรากฎอยู่  จุดส้มๆ ก็คือ Recovery ค่ะ และถ้าเราเอากราฟลงมาและรักษาความสงบไว้ได้นาน เราจะได้รับรางวัลเป็นเสียงนกร้อง ซึ่งในกราฟจะแทนด้วยแท่งสีเขียว นกไปทั้งหมดกี่ตัวเราก็จะได้เห็นในตอนรวมผลลัพธ์หลังจบเซสชันด้วย (ไม่เคยดีใจที่ได้นกขนาดนี้มาก่อน) ทั้งหมดนี้จะถูกรวมออกมาเป็นคะแนน calm points ให้เราค่ะ ซู่ชิงลองครั้งแรกได้ 315 คะแนน ซึ่งมาจาก 41% calm ค่อนข้างฟุ้งซ่านเลยทีเดียว

Muse มีบทเรียนทั้งหมด 10 อย่าง เริ่มตั้งแต่แบบง่ายสุดๆ ไต่ขึ้นไปยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราสามารถดาวน์โหลดคอร์สต่างๆ เหล่านี้ได้บนแอปเลย ส่วนเสียงที่เราได้ยินก็มีให้ดาวน์โหลดหลายแบบนะคะ นอกจากเสียงคลื่นแล้วก็ยังมีเสียงฝน เสียงลมพัดในทะเลทราย เสียงแอมเบียนท์ เสียงในเมือง แต่ละเสียงก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ความชอบ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็ได้จะได้ไม่เบื่อ

สิ่งที่แอปคอยบอกเรา

  • เสียงบรรยายในแอปฯ จะคอยนำทางเราให้เราเข้าใจว่าต้องทำอะไรต่อ ต้องวางความคิดยังไง (เป็นภาษาอังกฤษ)
  • แอปจะบอกให้เราเฝ้าดูลมหายใจเข้า-ออกของเรา
  • แอปแนะนำว่าถ้าหากเราความคิดฟุ้งซ่านเมื่อไหร่ ให้ปล่อยความคิดไว้เฉยๆ อย่าไปตัดสิน อย่าไปคิด หรือผิดหวังอะไร ปล่อยให้มันผ่านไป
  • แอปจะบอกว่าเป็นเรื่องปกติที่เราจะตั้งความหวังว่าผลลัพธ์เราจะต้องออกมาสวยหรู แต่ในความเป็นจริงมันไม่เป็นแบบนั้น มันมีขึ้นมีลง อย่ากดดันตัวเอง

รีวิวหลังใช้งาน

การใช้ Muse ช่วยในการทำสมาธิ แรกๆ มีสิ่งที่ต้องทำความคุ้นเคยอยู่บ้าง ซู่ชิงพบว่าการได้ยินเสียงคลื่นลมทะเลแรงที่เป็นตัวบ่งบอกว่าเราฟุ้งซ่านนั้น บ่อยครั้งยิ่งทำให้เราฟุ้งซ่านกว่าเดิม เพราะทำให้เกิดความรู้สึกตกใจว่า “เอ๊ะ เราทำอะไรผิด” และพอยิ่งพยายามจะทำให้มันสงบลงมันก็ยิ่งดูจะวุ่นวายกว่าเดิม

แต่พอทำไปบ่อยๆ และเริ่มชินกับความเป็นจริงว่ามันจะมีขึ้นมีลงแน่ๆ ก็จะทำให้เริ่มปล่อยวางได้

ซู่ชิงทำเซสชันแรกนาน 3 นาที ได้ 41% calm และมีคะแนน calm point อยู่ที่ 315 โดยได้ยินเสียงนกร้องแค่ 7 ครั้ง ส่วนครั้งที่สองเพิ่มเวลานานขึ้นเป็น 10 นาที ได้เปอร์เซ็นต์ความสงบมา 64% คะแนนรวม 1338 คะแนน และได้ยินเสียงนกร้องไปตั้ง 50 ครั้งแน่ะค่ะ แสดงว่าการทำความคุ้นเคยกับรูปแบบการช่วยทำสมาธิของ Muse นั้นใช้เวลาไม่นานก็สามารถทำได้ดีขึ้นแล้ว

เนื่องจากเราไม่มีวิธีที่จะวัดความแม่นยำของการอ่านสัญญาณสมองได้ ซู่ชิงก็เลยลองทำการทดลองเล็กๆ ดู โดยในระหว่างเซสชัน 10 นาที นั้น มีช่วงครึ่งหลังที่ซู่ชิงปล่อยให้สมองวุ่นวายถึงขีดสุด คิดนู่นคิดนี่ คิดถึงเรื่องที่กังวล คิดถึงเรื่องที่ไม่สบายใจ คิดถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการทำสมาธิ ฯลฯ แล้วดูว่าจะเกิดผลลัพธ์อะไรขึ้นกับกราฟหรือไม่ และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นค่ะ

ช่วงเริ่มต้นกราฟจะสูงตามธรรมดาอยู่แล้ว จากนั้นก็ตกลงในช่วงที่พยายามทำสมาธิและโฟกัสไปที่ลมหายใจ จะเห็นว่าซู่ชิงได้นกหลายตัวในช่วงเวลานี้ (เห็นได้จากแท่งสีเขียวซึ่งใช้แทนนก) และมาถึงช่วงที่ตั้งใจคิดฟุ้งซ่านไม่สนลมหายใจเข้าออกอีกต่อไป กราฟพุ่งขึ้นสูงปรี๊ดทันที

หลังใช้ Muse เสร็จทุกครั้ง ซู่ชิงรู้สึกสงบ และมีสมาธิมากขึ้นค่ะ

บทสรุป

การนั่งขัดสมาธิ เอามือขวาทับมือซ้าย และดูลมหายใจเข้า-ออก ที่เป็นคอนเซ็ปต์หลักๆ ของการทำสมาธินั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ไม่มีใครทำสมาธิไม่เป็น แต่คำถามสำคัญคือเราทำสมาธิกันมากแค่ไหน? บ่อยแค่ไหน? และทำด้วยประสิทธิภาพดีแค่ไหน? หากเรายังไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างเต็มเสียง Muse อาจจะเป็นแก็ดเจ็ตที่มาช่วยเราได้

การใช้ Muse ทำให้การทำสมาธิที่เป็นเรื่องน่าเบื่อและชวนง่วงมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น การที่เราได้เห็นเพอร์ฟอร์มานซ์ของตัวเองหลังจบทุกเซสชัน และนำกราฟมาวิเคราะห์ได้ว่าวันไหน ช่วงไหน เราทำได้ดี ตรงไหนทำได้ไม่ดี และจะปรับปรุงครั้งต่อไปได้ยังไงบ้าง การใช้เสียงเอ็ฟเฟ็กต์ต่างๆ มาช่วย ล้วนทำให้การทำสมาธิเป็นเรื่องน่าอภิรมย์ขึ้น เสียงนุ่มๆ ที่นำทางเราในทุกการทำสมาธิก็ช่วยให้เราอยู่กับมันได้นานขึ้น และเมื่อไหร่ที่เราห่างหายไปจากการทำสมาธินานๆ แอปก็จะส่งคำเตือนมายังสมาร์ตโฟนของเราเพื่อบอกเราว่าเราไม่ได้ทำสมาธินานกี่วันแล้ว ก็เป็นการเตือนความจำให้เราเดินไปหยิบ Muse มาสวมได้

ราคา 249 ดอลลาร์ หรือประมาณเกือบ 8,000 บาท ก็ไม่ใช่ราคาที่ถูกสักเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่มีเป้าหมายที่อยากจะทำสมาธิให้บ่อยขึ้นแต่ยังไม่สามารถทำได้สักทีไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตามแต่ และต้องการตัวช่วยในการจูงใจให้อยากทำสมาธิให้ได้เป็นกิจลักษณะ นี่ก็อาจจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าก็ได้ค่ะ ถ้าหากสนใจก็เข้าไปดูต่อหรือสั่งซื้อได้ที่ เว็บไซต์ของ Muse ได้เลย

 

Advertisement

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s