ประสบการณ์การทำงานด้านสื่อมวลชนโดยเฉพาะการอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์มานานเกือบ 10 ปีสอนสิ่งหนึ่งให้กับซู่ชิงที่ทำจนติดเป็นนิสัยคือ “บนทีวีจะพูดคำหยาบไม่ได้เด็ดขาด” แม้จะไม่เคยมีใครมากางคู่มือให้ดูว่ามีคำหยาบไหนบ้างที่ติดแบล็กลิสต์ไม่สามารถพูดออกทีวีได้ คำหยาบมีกี่ระดับ คำไหนพอจะอนุโลมให้พูดได้ คำไหนต้องห้ามเด็ดขาด หรือตกลงแล้วคำสรรพนามที่อยู่คู่กับเรามายาวนานอย่าง กู กับ มึง นั้นถือเป็นคำหยาบหรือไม่กันแน่ เนื่องจากไม่มีคู่มือหรือข้อกำหนดที่ตายตัวนี่แหละค่ะ ก็ทำให้คนทำงานทีวีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังเลือกที่จะเพลย์เซฟเอาไว้ก่อน ใครล่ะจะอยากไปเสี่ยงในประเทศที่ห้ามเห็นแม้แต่แก้วไวน์เปล่าๆ หรือนมแบนๆ ของชิซูกะ
กว่าจะเริ่มปล่อยตัวให้สบายๆ เริ่มสบถคำหยาบที่ไม่เคยแม้แต่จะจินตนาการว่าจะเปล่งเสียงออกมาจริงๆ ได้ ก็ต้องอาศัยการช่วยฝึกฝนจากเพื่อนฝูงรอบตัว (เพื่อนดีนี่มันดีจริงๆ) จนเริ่มรู้สึกว่าการได้พูดอะไรหยาบๆ ออกมาบ้างในบางโอกาสมันก็ดีเหมือนกันนี่นา สอดคล้องกับผลวิจัยที่บอกว่าการสบถมีประโยชน์ที่หลากหลาย ช่วยลดความเจ็บปวด เพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ และแสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนฉลาดและตรงไปตรงมาด้วย
แต่ไม่ว่าจะพยายามยังไง ซู่ชิงก็ไม่กล้าพูดคำหยาบๆ ออกสื่อสักที แค่ในระหว่าง Facebook Live การจะหลุดคำสบถออกมาได้ก็ถือว่าค่อนข้างยาก อย่างมากสุดๆ ก็ได้คำว่า “เชี่ย” ไม่ต้องพูดถึงทีวีเลยค่ะ จิตใต้สำนึกแข็งแกร่งมาก ไม่ยอมปล่อยให้หลุดออกมาเลย หรือถ้าในบางครั้งเล่นเกมในระหว่างถ่ายรายการแล้วมีปล่อยหลุดออกมาบ้าง ท้ายที่สุดก็จะถูกทีมงานใส่ บี๊บ หรือตัดออกอยู่ดี ซึ่งว่ากันตรงๆ นะคะ สื่อเมืองไทยก็ทำงานได้ดีมากในเรื่องนี้ เราแทบจะไม่ได้ยินคำหยาบอะไรหลุดออกมาจากทีวีเลยถ้าไม่ใช่ว่าสุดวิสัยจริงๆ เพราะเป็นรายการสด แต่ตามปกติแล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่อยู่หน้ากล้อง และทีมงานนับ สาม สอง ต่อให้ก่อนหน้านั้นกำลังแซวคึกคักคะนองปากกับคนในห้องส่งอยู่แค่ไหน ก็ต้องหุบปากเงียบกริบพร้อมสวมวิญญาณผู้ดีมีมารยาททันที
ไม่ใช่แค่วงการผู้ประกาศเท่านั้น ละครที่เรามักจะตำหนิกันว่าเนื้อหาไม่สร้างสรรค์ มีแต่ตบ จูบ ข่มขืน ทั้งหลาย หากนำฉากเหล่านั้นมาอยู่ในบริบทโลกแห่งความเป็นจริง ตัวละครก็คงจะพ่นคำหยาบออกมาไม่หยุดปากแถมน่าจะเป็นคำหยาบชนิดที่ฟังครั้งเดียวก้องอยู่ในโสตประสาทไปอีกห้าวัน แต่สิ่งที่เราเห็นกลับเป็นการจิกเรียกกันว่า ชั้น กับ แก นังนั่น นังนี่ ทั้งที่ความเป็นจริงมันต้องมี กู มึง เหี้ย ห่า ดอก สัตว์ เลว ชั่ว ฯลฯ ร่วงหล่นออกมาแทบนับไม่ถ้วน
ดังนั้นการดูทีวีของเรา จึงเท่ากับ การชมคอนเทนต์ที่สุภาพ ภาษากรองมาแล้ว ซึ่งบางครั้งก็ขัดกับบริบทของเนื้อหาที่เห็นอยู่ตรงหน้า แต่ก็ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะทีวีเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้ชมทุกเพศทุกวัย มีความจำเป็นต้องใช้ภาษาที่นุ่มนวลที่สุด
สิ่งนี้ทำให้เกิดอะไร?
เกิดความโหยหาอยากเห็นคนบนสื่อเป็นเหมือนคนธรรมดาทั่วๆ ไป ที่มีโมเมนต์โกรธ โมโห สบถ ผรุสวาท ด่าอย่างบ้าคลั่ง และมีความเป็นมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม ยังไงล่ะคะ ในเมื่อที่ผ่านมาหาของแบบนี้ดูบนทีวีไม่ได้ อินเทอร์เน็ตก็คือคำตอบ อินเทอร์เน็ตไม่มีกองเซ็นเซอร์ที่จะทำงานอย่างรวดเร็วในการร่อนจดหมายหาสถานีโทรทัศน์หรือสำนักพิมพ์ อินเทอร์เน็ตเป็นสถานที่ที่เขาว่ากันว่าจะทำอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้ ไม่มีใครดุด่าว่ากล่าว ไม่มีใครลงโทษ
ที่ผ่านมาจึงจะเห็นว่าเริ่มมีเทรนด์ของการใช้คำหยาบในการถ่ายทำคอนเทนต์วิดีโอบนอินเทอร์เน็ต ยิ่งทำก็ยิ่งหยาบขึ้นๆ อันที่จริงซู่ชิงก็ไปกดไลค์ไว้หลายเพจนะคะ เพราะดูแรกๆ มันก็ตลก โอ๊ย จะช่างสรรหาคำสบถตลกๆ อะไรมาได้เยอะขนาดนี้ หรือแม้จะเป็นการสบถคำยอดฮิตทั่วไป อย่างเช่น อีดอก อีเหี้ย อีสัส ก็ช่างสบถได้อารมณ์ดีเหลือเกิน บางคนเป็นดาราที่เราไม่เคยได้เห็นเขาสบถมาก่อน พอได้มาเห็นก็รู้สึก โอ้โห คนจริง ช่างเป็นคนตรงไปตรงมา เปิดเผย แล้วคำสบถพวกนี้มันก็กระแทกกระทั้นสะใจดีจัง ใครที่เจ๋อมาคอมเมนต์ว่า “ชอบคลิปนะคะแต่ไม่ชอบให้ใช้ภาษาหยาบขนาดนี้เลย” ก็มักจะโดนรุมประชาทัณฑ์ไล่ออกไปจนแทบจะไม่มีที่ยืน เพราะช่วงที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่คอนเทนต์หยาบครองอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง
ถ้าคำหยาบมันหยุดอยู่ที่ไม่กี่คำ สบถออกมาในบางจังหวะที่มันใช่จริงๆ อย่างบางช่วงที่ต้องด่าจริงๆ หรือตกใจจริงๆ ก็น่าจะยังพอนับเป็นศิลปะในการทำคอนเทนต์ได้อยู่ แต่ซู่ชิงพบว่าเมื่อเวลาผ่านไป คำหยาบมันเริ่มเฝือโดยไม่จำเป็น แรงโดยที่ไม่ต้องแรงขนาดนั้นก็ได้ และกักขฬะจนเกินกว่าจะยอมรับได้ คำธรรมดาอย่าง อีดอก ที่ด่ากันจนชินหู พอเริ่มปรากฎอยู่ในคลิปความยาว 10 นาที สักประมาณ 10 ครั้ง มันก็เริ่มจะมากเกินไป ความน่าสนใจของการใช้ภาษารุนแรงก็เริ่มลดน้อยถอยลง บางเพจไปไกลถึงขั้นใช้ภาษาทางเพศที่หยาบโลนมาผนวกเข้ากับคอนเทนต์ที่ดูไม่น่าจะเข้ากันได้ อย่างการแต่งหน้า หรือพาไปกินอาหาร ที่ดูเป็นกิจกรรมรื่นรมย์ แต่มันมาอยู่คู่กับคำว่า น้ำแตก ขย่ม เสียว เลีย ฯลฯ ได้ยังไง!?!
ซู่ชิงออกตัวเลยเป็นคนเสพคำหยาบเยอะทั้งไทยและอังกฤษ และไม่ได้เป็นคนที่ต้องร้องกรี๊ดปิดหูเวลาได้ยินเรื่องเพศ แต่ในบางกรณีมันมากเกินไปจริงๆ จนกลบสาระที่เจ้าของเนื้อหาพยายามนำเสนอ ซู่ชิงต้องไล่กด Unlike ทุกเพจที่ใช้คำหยาบหนักและบ่อยเกินไป โดยไม่มีอคติส่วนตัวใดๆ กับคนทำคอนเทนต์ เพียงแต่รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ตอบสนองความต้องการของเราอีกต่อไปแล้วเท่านั้น เราอยากพักหู พักตาแล้ว มันอาจจะยังเวิร์คกับคนอื่นอีกจำนวนมาก แต่มันไม่เวิร์คกับเราแล้ว
คอนเทนต์คำหยาบโอเวอร์โหลด นำไปสู่ปรากฏการณ์สู่ขวัญ
ตอนที่ซู่ชิงกด Unlike เพจและคิดว่ามันน่าจะไม่เวิร์คสำหรับเราคนเดียว แต่คนอื่นเค้าก็ยังดูเพลิดเพลินกันดีอยู่นะ ไม่นานหลังจากนั้นก็มีปรากฏการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่า เอ๊ะ ไม่น่าจะใช่เราคนเดียวแล้วแหละ เพราะจู่ๆ คลิปของคุณสู่ขวัญ บูลกุล บนเพจเฟซบุ๊กนิตยสารแพรว ก็กลับมีโมเมนตัมที่น่าตกใจ กวาดยอดคนดูไปได้เป็นล้านๆ ทั้งที่คุณสู่ขวัญไม่ได้ทำอะไรที่โลดโผนเลย แค่เป็นตัวของตัวเองและเดินช้อปปิ้งไปเรื่อยเปื่อย เจออะไรน่ารักก็หยิบ เสื้อผ้าตัวไหนสวยก็สอย แซวทีมงานบ้าง แซวตัวเองบ้าง ซึ่งคลิปรายการแบบนี้ถ้าให้เดาตั้งแต่แรกก็คงจะไม่มีใครเดาว่ามันจะดังเปรี้ยงปร้าง เพราะมีคนตั้งกี่ร้อยคนแล้วที่พาผู้ชมเดินซื้อของ หรือคุยเรื่อยเปื่อยแบบนี้
แต่สำหรับซู่ชิง สิ่งที่ดันให้เกิดปรากฏการณ์ “ติ่งพี่ขวัญ” ขึ้นมาได้ มีอยู่ 2 อย่างหลักๆ ค่ะ หนึ่ง ตัวของคุณสู่ขวัญเอง ที่เป็นคนพูดจาไพเราะ น้ำเสียงเพราะพริ้ง รสนิยมการแต่งตัวสวยสง่า การพูดเบาๆ หัวเราะเบาๆ (แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเราก็เคยเห็นตัวตนแบบนี้ของคุณสู่ขวัญบนทีวีมาแล้วหลายปี และผู้ประกาศอีกจำนวนไม่น้อยก็มีบุคลิกแบบเดียวกันนี้ อาจจะไม่เหมือนกันเป๊ะ ไม่มีเสน่ห์แบบเดียวกันนี้ แต่พื้นฐานไม่ต่างกันนะคะ) สอง ตลาดกำลังต้องการตัวตนแบบคุณสู่ขวัญ เพราะตลาดคอนเทนต์ออนไลน์เต็มไปด้วยคำสบถเหี้ยห่าสารพัดสัตว์ เมื่อมาเจอกับคอนเทนต์เบาๆ นิ่มๆ สวยสูงส่งของคุณสู่ขวัญ ก็เลยเหมือนอยู่กลางทะเลทรายแล้วคลานไปเจอโอเอซิส มันดับกระหายได้อย่างไม่น่าเชื่อ บางคนอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองกระหายความเบาสบายด้วยซ้ำ จนกระทั่งได้มาเจอคลิปของคุณสู่ขวัญ จิตใต้สำนึกก็เลยเริ่มทำงานว่านี่แหละสิ่งที่จะมาโอบอุ้มจิตใจเราได้!
“การดูคอนเทนต์ออนไลน์แล้วสบายใจ” ในยุคนี้เนี่ย หาได้ยากยิ่งเลยนะคะ เพราะทุกวันนี้คอนเทนต์ออนไลน์มีแต่ปลุกเร้าอารมณ์ผู้ชม ด้วยความเชื่อว่าจะแข่งกับคนอื่นได้ก็ต้องทำคอนเทนต์ที่กระชากอารมณ์คนดูให้ยอมหยุดเลื่อนฟีดและดูเราได้
คำหยาบ ยิ่งฟัง ยิ่งเบื่อ
ถึงแม้คำหยาบจะส่งผลกระทบในทางบวกให้แก่ผู้พูดได้บ้าง แต่สำหรับผู้ฟังแล้วดูเหมือนกับว่าจะไม่ได้รับประโยชน์ในระดับที่เท่าเทียมกันสักเท่าไหร่ สตีเว่น พิงเกอร์ ศาสตราจารย์จากฮาร์เวิร์ดผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Stuff of Thought: Language as a Window Into Human Nature ได้เขียนประโยคหนึ่งเอาไว้น่าสนใจมากทีเดียว
“You can use a swear word like fuck to basically ping the emotional centers of the brain and perk up a listener. But when it is overused, the word shifts from taboo to normal and doesn’t have the same effect.”
“คุณสามารถใช้คำสบถอย่างคำว่า fuck เพื่อจุดศูนย์กลางของอารมณ์ในสมองและเรียกความสนใจจากผู้ฟังได้ แต่ถ้าหากใช้มากเกินไป คำสบถก็จะเปลี่ยนจากคำต้องห้าม ไปเป็นคำปกติธรรมดา และไม่ทำให้เกิดผลลัพธ์ในแบบเดียวกันอีกแล้ว”
เพื่อเป็นการยืนยันว่าคนไม่ได้ชอบ “ฟัง” คำหยาบมากขนาดนั้น ศาสตราจารย์ Jeffrey Bowers จาก University of Bristol’s School of Experimental Psychology ที่ทำการทดลองเกี่ยวกับอารมณ์ที่เกิดจากการฟังคำสบถ ได้กล่าวไว้ว่า คำสบถต้องห้ามทั้งหลายไปกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ที่รุนแรงได้ถึงแม้ว่าผู้สบถจะไม่ได้มีเจตนาที่จะลบหลู่ดูหมิ่นเลยก็ตาม และไปกระตุ้นให้เกิดความเครียดด้วย
อินเทอร์เน็ตไม่ใช่ลานทิ้งขยะ
คำกล่าวที่บอกว่า “ทำอะไรก็ได้บนอินเทอร์เน็ต” มันไม่ใช่เรื่องจริงนะคะ จะเห็นได้ว่าบนอินเทอร์เน็ตก็มีกลไกตรวจสอบความเหมาะสมของมันเองอยู่ โดยใช้บรรทัดฐานมาจากความรู้สึกของผู้ชมนี่แหละ อะไรดีผู้ชมก็ว่าดี อะไรไม่ดีผู้ชมก็จะเริ่มตบ เริ่มเตะ เริ่มเขี่ย ให้มันเข้าที่เข้าทาง ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากรายการ “คนหน้าหมี” ที่เริ่มเผยแพร่ตอนที่หนึ่งไปบนเฟซบุ๊ก เป็นรายการที่ชวนแขกรับเชิญผู้หญิงมาเพื่อให้ผู้ดำเนินรายการชายแทะโลมอย่างเมามัน ดูผิวเผินเหมือนคอนเซ็ปต์แบบนี้น่าจะฮิต น่าจะมียอดไลค์ ยอดแชร์สูง เพราะสามารถแสดงความห่ามได้เต็มที่ ซึ่งก็อาจจะประสบความสำเร็จก็ได้นะคะถ้าหากมาในช่วงต้นตอนที่คนยังตื่นเต้นกับสิ่งที่หาดูไม่ได้ง่ายๆ และสิ่งนี้คือความแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ตอนนี้คนดูบนออนไลน์ที่เรียนรู้การอยู่กับคอนเทนต์ที่หลากหลายนั้นเริ่มจะบ่มฟักความชอบ ไม่ชอบ สิ่งที่ตัวเองโอเค และไม่โอเค ด้วย มาจนสุกงอมแล้ว พวกเขารู้ว่านี่คือสิ่งที่ไม่โอเค และไม่รอช้าที่จะต่อต้านและประท้วง รายการก็เลยมีอันต้องระงับเพื่อกลับไปทบทวนใหม่ก่อนว่าตกลงแล้วอะไรกันแน่ที่คนออนไลน์ต้องการดู คำตอบที่เห็นได้ชัดแล้วคือ ไม่ใช่ “ความห่าม” แน่ๆ
ทางออกคืออะไร?
สำหรับผู้ชม – เลือกชมอะไรที่ตัวเองอยากชม ถ้ายังโอเคกับคำหยาบ ไม่มีปัญหา ยังสนุกที่จะได้ฟังคำสบถ ก็เสพคอนเทนต์ต่อไปได้จนกว่าความชอบจะเปลี่ยนแปรไปเป็นอื่น
สำหรับคนทำคอนเทนต์ – หันกลับมาให้ความสำคัญว่าโฟกัสหลักของตัวเองคืออะไร คือเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอใช่หรือไม่ แล้วถ้าต้องการเพิ่มความเผ็ดร้อน ก็หยอดคำหยาบไว้ตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย เอาไว้แค่เพื่อกระตุ้นอารมณ์หรือทำให้ผู้ฟังตื่น แต่ควรหยอดเอาไว้ในที่ๆ เหมาะสม ที่มีที่มาที่ไปที่จะสบถนะคะ ระวังไม่ให้เฝือจนเกินไป หรือถ้าจริงๆ ไม่ใช่คนพูดหยาบอยู่แล้วก็ไม่ต้องบังคับตัวเองให้พูดหยาบก็ได้ ดูคุณสู่ขวัญเป็นตัวอย่าง ความเป็นตัวของตัวเองนี่แหละที่ดึงดูดคนดูได้มากที่สุด และยั่งยืนที่สุด
ติดตามซู่ชิงได้ที่ Sueching’s Facebook นะคะ
ภาพประกอบ Designed by Freepik
Reblogged this on OPEN_AOP .
LikeLike