คุณผู้อ่านเคยสงสัยไหมคะว่าหากเราหยิบเอาความเป็นตัวเราเองมาออกแบบให้กลายเป็นแฟชันดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร ชุดที่เราจะสวมใส่จะมีหน้าตาแบบไหน
ใครที่มีพรสวรรค์ทางด้านศิลปะและพอจะวาดเขียนได้คงจะสนุกสนานไปกับการออกแบบไอเดียที่มีในหัวตัวเองให้ออกมาเป็นชุดสวยๆ ได้ แต่คนที่ไม่กระดิกเรื่องวาดรูปเลยก็คงจะยากหน่อย
ถ้าอย่างนั้นลองมาใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยออกแบบเสื้อผ้ากันดีกว่าค่ะ
ก่อนอื่นซู่ชิงต้องรีบออกตัวตั้งแต่ตอนนี้เลยว่าแบบของเสื้อผ้าที่ปัญญาประดิษฐ์หรือที่เดี๋ยวนี้เรานิยมเรียกกันว่าแมชชีน เลิร์นนิ่ง จะช่วยวาดให้นั้นมันคงไม่สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตจริงโดยที่คนอื่นรอบตัวไม่เหลียวหลังมองจนคอแทบหัก แต่อย่างน้อยๆ มันก็จะทำให้เราเห็นว่าแมชชีนเลิร์นนิ่งและข้อมูลมหาศาลที่เรามีนั้นจะนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านแฟชันได้อย่างไรบ้าง
โครงการนี้มีชื่อว่า Project Muze เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง Google และร้านค้าแฟชันออนไลน์ Zalando เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าตัวเองก็มีอิทธิพลกับกระบวนการการสร้างแฟชันขึ้นมาได้เหมือนกัน
หลักการทำงานคือการใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งโดยการให้เราป้อนข้อมูลส่วนตัว แล้วนำไปใช้ควบคู่กับข้อมูลด้านสไตล์จากเทรนด์เซ็ตเตอร์ทางด้านแฟชันกว่า 600 คน นำผลลัพธ์ที่ได้ไปรวมกับข้อมูลที่เก็บมาจาก Google Fashion Trends Report และสไตล์ฮิตของ Zalando ควบคู่กันไป ผลที่ได้ก็คือแบบเสื้อผ้าที่ดูราวกับหลุดออกมาจากโลกอนาคตอีกหลายปีข้างหน้า
แล้วซู่ชิงจะรอช้าอยู่ไย มาถึงนี่แล้วก็ต้องลองออกแบบเสื้อผ้าของตัวเองดูสักหน่อย เมื่อเปิดเข้าไปที่เว็บไซต์ projectmuze.com แล้วกดออกแบบดีไซน์เสื้อผ้าของตัวเอง เราจะต้องตอบคำถามทั้งหมด 5 ข้อด้วยกันค่ะ
ข้อแรกคือเพศ มีตัวเลือกให้สามชอยส์ คือ ผู้หญิง ผู้ชาย หรือยูนิเซ็กซ์
ข้อที่สองให้เลือกประเภทของงานศิลปะที่ชื่นชอบ เช่น มินิมอลลิซึม ฟิวเจอร์ริซึม อิมเพรสชันนิซึม ฯลฯ
ตามมาด้วยข้อสามให้เลือกอารมณ์ ว่า ซุกซน ตื่นเต้น สับสน ฯลฯ
ข้อสี่เลือกสไตล์ อยากเป็นวินเทจ คลาสสิค สปอร์ต หรูหรา ฯลฯ
และข้อที่ห้า อันนี้ให้เราวาดรูปอะไรก็ได้ลงไป ซึ่งใครใช้เมาส์วาดก็คงจะออกมาบิดๆ เบี้ยวๆ นิดหน่อย
(คำถามที่จะถาม 5 ข้อก็จะไม่เป๊ะตามนี้นะคะ บางครั้งก็จะถามถึงประเภทของเพลงที่ชอบฟัง อายุ และสีที่ชอบก็มีด้วยเหมือนกัน)
พอกดปุ่มเสร็จสิ้นระบบก็จะประมวลผลข้อมูล ในระหว่างนั้นก็จะเล่าให้เราฟังว่าหยิบข้อมูลมาจากไหนบ้าง และท้ายที่สุดก็จะบอกว่ามันเลือกดึงแรงบันดาลใจมาจากอะไร เช่น ดึงฤดูร้อน ลวดลายของสัตว์ ภาพถ่ายดาวเทียมของอวกาศ แพทเทิร์นอราบิกมาเป็นแรงบันดาลใจ เป็นต้น (ดูเป็นอาร์ทิสต์สุดๆ) แล้วก็ ทาดา! ออกมาเป็นแบบเสื้อผ้าที่ดูเท่เตะตาไม่เบาเลยทีเดียว
โปรเจ็กต์นี้มีฐานอยู่บนแพลตฟอร์ม TensorFlow ของกูเกิล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์สสำหรับการพัฒนาแมชชีน เลิร์นนิ่ง ที่กูเกิลเปิดให้สาธารณชนเข้ามาหยิบใช้และช่วยแชร์กันตามสะดวก
ที่ผ่านมาเรามักจะพูดกันว่าหุ่นยนต์แพ้มนุษย์ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์เพราะไม่สามารถที่จะสร้างสิ่งสวยงามโดยใช้แรงบันดาลใจมาจากหลากหลายสิ่งรอบตัวเหมือนที่มนุษย์สามารถทำได้ แต่ Project Muze มีมาเพื่อต้องการจะบอกว่าข้อเท็จจริงนี้อาจจะไม่สามารถพูดได้เต็มปากอีกต่อไปแล้ว (ดูอย่างการที่มันเลือกหยิบฤดูร้อนมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเสื้อผ้านั่นสิคะ)
แบบเสื้อผ้าที่ซู่ชิงได้มาเป็นเดรสกระโปรงพองๆ ทิ้งตัวลงมาเป็นทรงสามเหลี่ยมความยาวเลยเข่าเล็กน้อย ซึ่งก็ดูไม่แปลกอะไรมากถ้าหากไม่ได้มาพร้อมกับผ้าสีขาวโปร่งที่บานพองไม่แพ้กันมาสวมไว้รอบคอและปล่อยยาวลงมาเท่ากระโปรง ดูแล้วไม่น่าจะมีประโยชน์ใช้สอยใดๆ นอกจากทำให้ดูเป็นคนแต่งตัวเต็มแน่นชนิดเอาอะไรปาใส่ก็กระเด้งกลับออกมาหมด
หลังจากที่ได้ลองกดออกแบบเสื้อผ้าดูหลากหลายแบบแล้วซู่ชิงก็ได้ข้อสรุปว่า โอเคล่ะ เข้าใจประเด็นที่ต้องการจะทดลองให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์กับปัญญาประดิษฐ์นั้นมันสามารถไปด้วยกันได้ แต่คนที่ประกอบอาชีพแฟชันดีไซน์เนอร์ก็อาจจะยังไม่จำเป็นต้องร้อนๆ หนาวๆ กลัวจะถูกหุ่นยนต์แย่งงานหรอกค่ะ เพราะแบบแต่ละอย่างที่ได้มาแทบจะไม่สามารถใส่ได้ในชีวิตจริงเลย ถ้าหากไม่นับวัตถุแปลกประหลาดที่มักจะมาแปะติดหรือลอยหมุนเคว้งอยู่รอบแบบเสื้อแล้ว (ซึ่งในชีวิตจริงคงไม่มีใครมานั่งคิดว่าทำยังไงให้มีอะไรมาลอยๆ หมุนๆ อยู่รอบตัวเราได้) การมิกซ์แอนด์แมตช์แพทเทิร์นหรือสีของชิ้นบนและชิ้นล่างก็นับว่ายังห่างไกลจากสิ่งที่ใส่ออกไปนอกบ้านแล้วจะไม่มีใครหัวเราะเยาะ ขนาดแบบที่ดูเรียบง่ายที่สุดก็ยังดูเหมือนเป็นแฟชันที่หลุดออกมาจากภาพยนตร์ไซไฟที่จินตนาการถึงอนาคตแบบเฟี้ยวๆ อยู่ดี (หรืออาจจะเป็นเพราะซู่ชิงไม่มีเซนส์ด้านแฟชันที่ดีพอก็ไม่รู้)
ที่บอกแบบนี้ไม่ได้แปลว่าจะไม่ต้องไปสนใจ Project Muze และมองว่ามันเป็นของเล่นขำๆ เลยนะคะ ซู่ชิงคิดว่าต่อให้มันยังไม่สามารถนำมาตัดสวมใส่ได้ในชีวิตจริง แต่สิ่งที่แฟชันดีไซน์เนอร์น่าจะสามารถทำได้คือลองศึกษาเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีแมชชีน เลิร์นนิ่ง ในการช่วยออกแบบเสื้อผ้า และหยิบเอาแรงบันดาลใจมาจากเสื้อผ้าเหล่านี้อีกที
นอกจากนี้ นี่อาจจะเป็นวิธีที่จะช่วยให้นักออกแบบแฟชันสามารถเชื่อมโยงกับลูกค้าของตัวเองด้วยการทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าที่กำลังสวมใส่โดยไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าการให้ข้อมูลความชอบส่วนตัวของตัวเอง พอได้แบบออกมาแล้วค่อยนำมาพูดคุยกันว่าชอบไม่ชอบอะไร แล้วค่อยปรับให้เป็นแฟชันที่ใช้ได้จริงก็ได้ ใครถามก็สามารถยืดอกตอบได้เท่ๆ ว่า นี่เป็นแบบเสื้อผ้าที่ปัญญาประดิษฐ์ออกแบบให้
ล้ำไม่มีใครเกิน